เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายอดิศักดิ์ มุ่งชู ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) และรองศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เลย เปิดเผยกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมเสนอมูลผลการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการเรียนซ้ำชั้น สำหรับนักเรียนที่เรียนไม่ผ่าน ให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาว่า ความจริงแนวทางให้เด็กเรียนซ้ำชั้นนั้น โรงเรียนต่างๆ ดำเนินการอยู่แล้ว อย่างสมัยที่ตนเป็นผู้อำนวยการ สพม.เขต 26 (มหาสารคาม) ในปี 2556-2557 มีโรงเรียนในสังกัดให้นักเรียนตกซ้ำชั้นอยู่หลายราย หลังซ่อมเสริมแล้วผลการเรียนและพฤติกรรมของเด็กไม่ดีขึ้น
นายอดิศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อทางโรงเรียนเอาจริงโดยการเชิญผู้ปกครองมารับรู้ว่าจะต้องให้เด็กซ้ำชั้น ผู้ปกครองจะย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนอื่นแทน ลักษณะที่พบคือมักย้ายไปโรงเรียนห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่กี่คน และโรงเรียนต้นทางก็ไม่ได้ติดตามต่อว่าหลังย้ายโรงเรียนแล้วเด็กมีผลการเรียนอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่เด็กรักโรงเรียนเดิมมาก และขออยู่โรงเรียนเดิมแม้จะต้องซ้ำชั้น โดยเคยพบลักษณะนี้ 4-5 คน ซึ่งเด็กก็ยอมรับว่าเป็นผลจากพฤติกรรมตัวเอง เช่น เถลไถล ไม่สนใจเรียน ไม่มาสอบ แต่หลังจากเรียนซ้ำชั้น เด็กจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากเดิมที่ไม่ตั้งใจเรียน ก็หันมาตั้งใจเรียนดีขึ้น
นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ. ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 17 กลุ่มจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย กล่าวว่า เรื่องให้เด็กตกซ้ำชั้น ที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์ทั้งข้อดีและข้อเสีย ฝ่ายที่ไม่อยากให้เด็กตกซ้ำชั้นมองว่าจะกลายเป็นตราบาปของเด็ก ด้านจิตวิทยาส่งผลให้เด็กสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง นอกจากนี้ มองว่าสูญเสียโอกาส สูญเสียทรัพยากร และสูญเสียเวลา ส่วนอีกฝ่ายที่สนับสนุน มองว่าในเมื่อผลการเรียนของเด็กไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานหลักสูตร ก็ควรให้เด็กเรียนซ้ำชั้น เพื่อเพิ่มเติมคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ควรร่วมกันดูแลเด็ก เพราะแต่ละคนอาจมีปัญหาไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ หากเป็นนโยบายของ ศธ.ในส่วนของตนพร้อมที่จะนำไปช่วยชี้แจงทำความเข้าใจในที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน