งบฯอุดม 88% อุ้มคนรวย ปานกลาง-สูง
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญาสวัสดิ์สุทธิ์ ตัวแทนจาก สสค. ได้รับเชิญจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก นำเสนอประสบการณ์ของประเทศ ไทยเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของไทย ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ต่อที่ประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติเรื่องบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยในส่วนของการกระจายทรัพยากรด้านการศึกษาพบว่า ภาครัฐสนับสนุนงบฯการศึกษาให้แก่เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำที่สุด มากกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้สูงที่สุดถึง 2 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาหรืออนุบาล เนื่องจากเด็กเล็กจากครอบครัวยากจนจะเข้าเรียนในระดับก่อนประถมศึกษามากกว่าเด็กเล็กจากครอบครัวที่มีรายได้สูงซึ่งส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลเอกชน ดังนั้น ปีงบฯ 2556 รัฐบาลสนับสนุนงบฯให้แก่เด็กก่อนวัยเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำที่สุด มากกว่าเด็กก่อนวัยเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงที่สุดถึง 4 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครอบครัวยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนประมาณ 2,000 บาท พึ่งพารัฐในการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษามากกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูง
ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ส่วนระดับการศึกษาภาคบังคับ พบว่าเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุด 20% แรกของประเทศกว่า 50% ไม่ได้เรียนต่อ ม.ปลายหลังจบการศึกษาภาคบังคับ แม้จะมีนโยบายเรียนฟรีก็ตาม โดยมีเด็กจากครัวเรือนที่ยากจนเพียง 7% เท่านั้นที่ศึกษาต่อจนถึงอุดมศึกษา ในขณะที่เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด เมื่อสำเร็จการศึกษาภาคบังคับแล้วก็ยังคงเรียนต่อ ม.ปลายและอุดมศึกษาเกือบ 100% หรือโอกาสที่เด็กจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศจะเข้าเรียนต่อถึงอุดมศึกษานั้นมีน้อยกว่าเยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด 20% แรกของประเทศ 10 เท่า แม้จะมีนโยบายเรียนฟรีในระดับ ม.ปลายและอาชีวศึกษาก็ตาม ส่วนงบฯของรัฐที่จัดสรรให้แก่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปีละกว่า 78,360,000 ล้านบาท ตกถึงเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยเพียง 12% เท่านั้น ขณะที่ทรัพยากรอีกกว่า 88% จัดสรรให้แก่เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 16 เมษายน 2559