ผู้เขียน รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ที่มา มติชนรายวัน
เผยแพร่ 14 เม.ย. 59
“สังคมผู้สูงอายุ” แม้จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสังคมโลกและสังคมไทย แต่หากให้ “สวนดุสิตโพล” ถาม “ประชาชน” ว่า “สังคมผู้สูงอายุ” คืออะไร? แล้วยิ่งถามต่อไปว่า “สังคมผู้สูงอายุ” เกิดขึ้นเมื่อไร? หรือหากถามถึงขั้นที่ว่าคนไทยจะเตรียมตัวกับ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างไร? เชื่อว่าบางคนอาจทำหน้า “งง” หรือบางคนอาจจะถามกลับเพราะความ “ไม่รู้” … ดังนั้น ข้อเขียนนี้จึงไม่ได้เป็นแค่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้อ่านเท่านั้น แต่เป็นการกระตุ้นให้ “คนที่กำลังจะเป็น…หรือเป็นผู้สูงอายุ” เห็นคุณค่าของตนเอง
และพร้อมที่จะ “แก่” … อย่างมีคุณค่า
“โลกแห่งผู้สูงอายุ” หรือ “สังคมผู้สูงอายุ” จากการประเมินสถานการณ์ของสหประชาชาตินั้นจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2643(2001-2100) โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึงการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าประชากรผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีฐานะยากจน อันจะเป็นประเด็นท้าทายทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศจะต้องมีแผนรองรับ
สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติสรุปว่าไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 (2005) โดยมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในช่วงปี 2567-2568 (2024-2025)
จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกนั้น ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการมีแรงงานในภาคการผลิตลดลง อัตราการออมที่ลดลง รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลและปฐมพยาบาลผู้สูงอายุมากขึ้น
ดังนั้น ในมิติของภาครัฐหากไม่มีการเตรียมความพร้อมในเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รายได้ประชาชาติลดลงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ควรดำเนินการ ณ วันนี้ คงหนีไม่พ้นการสร้างความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ โดยเฉพาะการร่วมมือเพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมวางแผนการออม การร่วมมือกันในชุมชน การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ การปรับตัวทางด้านสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวัยผู้สูงอายุ เช่นในหลายประเทศได้มีการขยายอายุผู้เกษียณอายุเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีงานทำ
ในส่วนภาครัฐของไทยก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน โดยภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ในมาตราที่กำหนดอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี ให้เพิ่มอายุการเกษียณราชการเป็น 65 ปี ซึ่งจะแก้ไขปัญหาคนในวัยทำงานไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดต่อระบบงบประมาณในการดูแลบุคลากร ทั้งในด้านของอัตราค่าจ้าง ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงเงินบำเหน็จบำนาญอีกด้วย
แม้ว่าขณะนี้จะมีเสียงเชิงปฏิเสธเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจากผู้นำประเทศก็ตาม แต่ก็ขอให้ติดตามกรณีที่กำลังศึกษานี้ต่อไป
ไม่เพียงภาครัฐเท่านั้น แต่ในมิติตัวตนของผู้สูงอายุก็จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน การเตรียมความพร้อมคงไม่สามารถมองแค่ด้านเศรษฐกิจ รายได้ ชีวิตความเป็นอยู่เพียงเท่านั้น แต่การเตรียมความพร้อมด้านสภาพจิตใจ โดยเฉพาะการเห็นและสร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง ถือเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องให้ความสำคัญไม่น้อย
การเห็นและสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองของผู้สูงอายุทั่วไปๆ อาจมุ่งประเด็นไปที่การมีบทบาทและหน้าที่ในสังคม ซึ่งหากมองแบบกว้างๆ อาจเริ่มจาก “บทบาทครอบครัว” ซึ่งความรู้และประสบการณ์จากการดำรงชีวิตที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ย่อมทำให้ผู้สูงอายุสามารถให้คำปรึกษาและชี้แนะรูปแบบการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าที่การงาน การดำเนินชีวิต ครอบครัว หรือแม้แต่เรื่องของสังคมได้เป็นอย่างดี ดังคำกล่าวที่ว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตที่โชกโชนของผู้สูงอายุ
ขณะที่ “บทบาททางสังคม” หากมองจากองค์ความรู้ที่สั่งสมอยู่ในตัว โดยเฉพาะด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม หรือแม้แต่ศิลปะไทยแบบดั้งเดิมซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะได้รับการบ่มเพาะความรู้ด้านวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน จนทำให้เป็นทั้ง “คลังความรู้และต้นแบบทางวัฒนธรรมไทย” ซึ่งหากความรู้เหล่านั้นได้ถูกนำมาถ่ายทอดและส่งต่อไปสู่คนไทยรุ่นใหม่ๆ อย่างเป็นระบบแล้ว “สภาวะการถอยหลังลงคลอง” ด้านวัฒนธรรมไทยก็คงไม่มีให้เห็นเหมือนเช่นปัจจุบัน (แต่เพราะ ณ วันนี้ สภาพสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงจาก “ครอบครัวขยาย” กลายเป็น “ครอบครัวเดี่ยว” การส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่นจึงกลายเป็นสิ่งที่ “ยากเย็น” ไม่ใช่เล่น..!!)
เพียงแค่มองบทบาทของผู้สูงอายุที่กล่าวข้างต้นเพียงสองด้าน ก็น่าจะทำให้สามารถลบภาพของ “คนแก่วัยเกษียณ อยู่บ้านพักผ่อน เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน เข้าวัดปฏิบัติธรรม” ได้ไม่มากก็น้อย แล้วหากมองรวมกับผู้สูงอายุประเภท “แก่..ที่ไม่แก่ แม้อายุจะมาก” … “แก่ แต่ยังมีไฟ” ซึ่งเป็นคนสูงอายุที่แม้จะมีความโรยราทางร่างกาย แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังทางความคิด ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความทันสมัย และแรงขับเคลื่อนในการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม ก็น่าจะทำให้คนในสังคมยอมรับถึงบทบาทของผู้สูงอายุที่ได้จำกัดแค่..ดูแลเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน
แต่สามารถทำงานให้สังคม เพื่อประเทศชาติ ซึ่งก็คงไม่ต้องมองไกล พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่มีให้เห็นแบบตัวเป็นๆ หรือแม้แต่ผู้นำระดับโลกหลายท่าน เช่น วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย วัย 63 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของคำว่า “แก่แบบมีคุณภาพ” ที่กล้าเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า “แก่…อย่างมีคุณค่า” ไม่ใช่ “แก่แบบกะโหลกกะลา” … คอยแต่จะเป็นปัญหาสังคม..!
ที่พูดมายืดยาวทั้งหมดนี้ไม่เพียงแค่ต้องการให้สังคมไทยเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ต้องการให้ผู้สูงอายุที่มีในสังคมจำนวนไม่น้อย เห็นคุณค่าและรู้จักทำตัวให้มีคุณค่า อย่าทำตัว “แก่เกินแกง” ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่ในวัยที่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้แล้ว ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ปล่อยให้สิ้นอายุขัยไปเอง แต่อยากให้ทำตัวเป็น “ขิงแก่” ที่ยิ่งแก่ก็ยิ่งมีประโยชน์ เป็นผู้อาวุุโสที่มากด้วยความสามารถและเต็มไปด้วยประสบการณ์
ส่วนคนในสังคมไทยก็อยากให้เห็นคุณค่าของ “คนแก่” อย่า!! มองว่า “คนแก่” เป็นภาระเลย หรือพวกท่านลืมไปแล้วว่าที่โตมาได้ก็เพราะ “คนแก่” ไม่ใช่หรือ..??