"ธีระเกียรติ" เผยปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ในปี 61 แต่เบื้องต้นจะวางพื้นฐานให้เด็กประถมต้นต้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ วันละชั่วโมง ส่วนวิชาสังคมและอื่นๆ ผนวกรวมเรียนกันแบบบูรณาการโดยตัดเนื้อหาบางส่วนออก เริ่มเปิดเทอมแรกในปี 59 นี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่างถึงความคืบการปรับระบบการประเมินและประกันคุณภาพภายในของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ขณะนี้การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ที่จะใช้กับการประเมินและประกันคุณภาพภายในมีการพัฒนาไปอย่างมากและกำลังจะเสร็จ ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์ทาง ศธ.ก็จะดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอก คือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เมื่อประสานเรียบร้อยก็จะทำการทดลองนำร่องประเมินโรงเรียน เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจน หากไม่มีข้อโต้แย้งและระบบสามารถดำเนินการได้อย่างดีก็จะนำมาใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าช่วงเดือนพฤษภาคมน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
รมช.กล่าวอีกว่า นอกจากจะปรับรูปแบบการประเมินแล้ว การปรับหลักสูตรก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน ซึ่งคาดว่าการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ที่มีผลในระยะยาวจะทำในช่วงปี 2561 สำหรับการปรับในระยะสั้นเบื้องต้น ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2559 จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ในชั้นประถมศึกษาตอนต้นจะเน้นการเรียนการสอนในวิชาหลัก อย่างเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอย่างน้อยวันละชั่วโมง ซึ่งรวมไปถึงวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทยที่ต้องเรียนอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงด้วย เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้มแข็งทางวิชาการและต่อยอดในช่วงชั้นต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของวิชาสังคมศึกษาและวิชาอื่นๆ จะเน้นการสอนแบบบูรณาการ ตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้เด็กๆ มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น
นพ.ธีระเกียรติยังปฏิเสธที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการประเมินโรงเรียนเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะ ศธ.จะทำการทดสอบและพัฒนาระบบการประเมินรูปแบบใหม่นี้ให้แน่ใจก่อนว่าสามารถทำได้ดี และไม่สร้างภาระให้ครูและโรงเรียน จึงจะนำไปใช้ประเมินโรงเรียนทั้งหมด.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 14 เมษายน 2559