ที่ประชุม ส.ค.ศ.ท.ชี้ปรับโครงสร้าง ศธ.และให้บอร์ด กศจ.บริหารงานแทน อ.ก.ค.ศ.อาจไม่มีผลเปลี่ยนแปลง เพราะขั้วอำนาจเก่าหรือ สพท.ตามเขตต่างๆ ยังมีบทบาทอยู่ ด้าน "กำจร" ส่ง 3 แนวทางซักซ้อมทำความเข้าใจผู้ว่าฯ ปฏิบัติหน้าที่ กศจ.
นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวถึงผลการประชุม ส.ค.ศ.ท. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา และปรับโครงสร้างการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาค โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เพราะทำให้เกิดการบูรณาการของภาคส่วนต่างๆ และแต่ละจังหวัดมีการดูแลจัดการการศึกษาของตนเอง แต่มีความกังวลเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและการบริหารงานบุคคล ซึ่งคนกลุ่มนี้ควรต้องมีประสบการณ์ในการบริหารงานการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานและความรู้ด้านกฎหมายการศึกษาด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ และทำให้งานเดินไปอย่างถูกทางมากที่สุด
ประธาน ส.ค.ศ.ท.กล่าวอีกว่า แม้จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารในส่วนภูมิภาค แต่ที่ประชุมก็เชื่อว่าปัญหาการทุจริตน่าจะยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เหมือนเดิม เพราะปัจจุบันผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และกลุ่มอำนาจเก่ายังมีบทบาทอยู่เหมือนเดิม จึงทำให้อาจไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ทาง ส.ค.ศ.ท.ขอเสนอตัวที่จะร่วมงานกับ กศจ. เพื่อให้ข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ เช่น การปฏิบัติงาน การบริหารจัดการศึกษา และการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นต้น ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมอบให้คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมเฝ้าจับตาดูและรับฟังข้อมูลการดำเนินงานตามโครงสร้างใหม่นี้ด้วย เพื่อที่จะเสนอแนะสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของชาติต่อไป
ที่ ศธ. นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (คปภ.) ของ ศธ.ในภูมิภาค กล่าวว่า ตนได้ลงนามในคำสั่ง ศธ.เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของ กศจ. ใน 3 เรื่อง ดังนี้
1.ให้ กศจ.แต่ละจังหวัดจัดประชุมโดยทันทีที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อเร่งพิจารณางานที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะงานที่มีกรอบระยะเวลาจำกัด เช่น การพิจารณาเลื่อนเงินเดือน การพิจารณาบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย เป็นต้น
2.การปฏิบัติหน้าที่ของ กศจ.ตามข้อ 1. หากเป็นงานที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองมาโดยชอบแล้ว ก็ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องมีการกลั่นกรองใหม่ เว้นแต่ กศจ.เห็นว่าการพิจารณาเรื่องใดหรือรายใดมีเหตุอาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและจำเป็นต้องกลั่นกรองอีกครั้ง และ
3.การแต่ตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือหรือกลั่นกรองงานให้แก่ กศจ.แต่ละแห่ง
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า ในส่วนของการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือหรือกลั่นกรองงานของ กศจ.แต่ละแห่งนั้น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของ คปภ.เป็นผู้แต่งตั้งตามข้อเสนอของ กศจ. ดังนั้นในระยะแรกจึงให้ กศจ.เสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) จังหวัดละไม่เกิน 3 คณะ ได้แก่ อกศจ.ที่รับผิดชอบงานด้านวินัย อกศจ.ที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับวิทยฐานะ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ และ อกศจ.ที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้าย โดยในขั้นตอนการเสนอแต่งตั้ง อกศจ.นั้นต้องระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนด้วย ทั้งนี้ จะต้องเสนอรายชื่อมาให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะประธาน คปภ. พิจารณาลงนามแต่งตั้งภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคณะอนุกรรมการ กศจ.เพื่อพิจารณาเรื่องวินัย การเลื่อนเงินเดือน และการเลื่อนวิทยฐานะแล้ว ก็ถือว่ายังไม่สิ้นสุด เพราะเรื่องทั้งหมดจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ด้วย.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 13 เมษายน 2559