ภาษาอังกฤษเด็กไทยไม่ก้าวหน้าปัญหาอยู่ที่ใคร?
ผศ.บุญเลิศ วงศ์พรม
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญที่มาพร้อมกับความคาดหวังว่า การแข่งขันจะเป็นไปอย่างเสรีในประชาคมอาเซียนในเบื้องต้นก่อนที่จะค่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่ประชาคมโลกเป็นลำดับถัดไป
แต่พอหันมาพิจารณาศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยแล้วก็ต้องใจหาย ประสิทธิภาพที่ควรมาพร้อมกับค่าแรงหรือเงินเดือนที่สูงขึ้น กลับไม่มีภาษาอังกฤษ ของคนไทยที่เกิดอาการอักเสบในวันนี้ แม้ว่าเด็กไทยจะมีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นทั้งจากครูผู้สอนและสื่อหลากหลาย แต่เครื่องหมายคำถามตัวมหึมายังคงปรากฏให้เห็นอยู่ว่า ทั้งที่เด็กไทยปัจจุบันมีตัวช่วยมากมาย มีโอกาสได้สัมผัสและพัฒนาภาษาอังกฤษมากกว่าเก่าก่อน แต่ไฉนผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) กลับยังคงอยู่ในกลุ่มวิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (23.98)
ด้วยประสิทธิภาพที่ตกต่ำ ทำให้ ผู้กำหนดชะตาการศึกษาไทย โดยพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนโยบายเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาจาก 40 ชั่วโมง เป็น 200 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา ซึ่งกำหนดให้มีการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษทุกวัน เพื่อความต่อเนื่องในการเรียนรู้ระยะเวลาผนวกกับความถี่ในการฝึกฝนคาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำได้ดี
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ครูต้องเก่ง ปริมาณครูต้องเพียงพอ ที่ผ่านมา จำนวนครูภาษาอังกฤษในแต่ละโรงเรียน กลับไม่สมดุลกับปริมาณนักเรียน บางแห่งนำครูที่ไม่ได้จบภาษาอังกฤษโดยตรงมาสอนย่อมเกิดปัญหา ครูก็ขาดความมั่นใจในการสอนนักเรียนก็ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ดังนั้นการนำครูมาอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูและแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนับสนุน เพราะครูจะได้แนวคิดในการสอนจากวิทยากรที่เก่งๆ เข้าใจในวิธีการสอนและสามารถจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจเด็กได้ตลอดคาบเรียน
ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือจำเป็นในการ ติดต่อสื่อสารในโลกยุคปัจจุบันการติดต่อสื่อสารมีขอบข่ายที่ขยายกว้างขวาง และยังเป็น สังคมโลกที่มีการแข่งขันสูงหนึ่ง เป็นเครื่องมือ ที่จะช่วยให้เราได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ว่า เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ซึ่งเส้นทางสู่ความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษมีหลากหลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางอาจเหมาะกับ คนหนึ่ง แต่กับอีกคนกลับไม่เป็นดังที่หวัง ฉะนั้น ไม่มีเส้นทางไหนการันตีความสำเร็จไว้ที่ปลายทาง ต้องลองหลายๆ วิธี
หยาง หยวนชิง ประธานบริษัทคอมพิวเตอร์ Lenovo ที่มีจำหน่ายทั่วโลก ฐานการผลิตใน 4 ประเทศ พนักงานกว่า 46,000 คน คืออีกหนึ่งตัวอย่างในการพัฒนา ภาษาอังกฤษ แม้นจะเริ่มต้นช้าไป แต่ตัวเลข อายุมิได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการฝึกฝน เขาเติบโตมาจากครอบครัวยากจนใน ต่างจังหวัดและเรียนทางด้านเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ถึงจะจบระดับมหาวิทยาลัยแต่ศักยภาพด้านภาษาอังกฤษของเขากลับอยู่ในระดับประถมอยู่ จวบจนอายุย่าง 40 ปี เขาจึงเริ่มฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะบริบททางสังคมและตำแหน่งหน้าที่ช่วยบีบเขาอีกแรง เขาอยู่ในตำแหน่งที่จำต้องพบปะกับคนในขอบเขตที่กว้างใหญ่กว่าเดิม ตลาดได้ขยายไกลไปในอเมริกาและยุโรป ความจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษจึงย่างกรายเข้ามาแม้นเขาจะพูดภาษาอังกฤษได้เพียงเล็กน้อย แต่เขากล้าประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของบริษัททุกคนในบริษัทต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ การประกาศครั้งนั้นเป็นการบังคับเขาเอง กลายๆ ว่าถึงคราวที่เขาต้องพัฒนาภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับที่สามารถสื่อสารได้
ไม่ต่างอะไรจาก แจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีระดับโลกอีกคนที่ผันตัวจากครอบครัวยากจนแต่มีความใฝ่ฝันอยากพูดภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่เด็ก ทุกเช้าเขาเดินทางออกจากบ้าน ด้วยจักรยานคู่ใจไปตามโรงแรมต่างๆ เพื่ออาสาเป็นไกด์พาฝรั่งเที่ยว โดยหวังว่าจะช่วยให้เขาได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมนอกห้องเรียน เป็นการฝึกฝนภาษาอังกฤษจากสนามชีวิตจริง นำเอาหลักทฤษฎีก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติเก็บเล็กผสมน้อยจากคำศัพท์เล็กๆ ค่อยๆ ต่อยอดเป็นประโยคต่างๆ พูดประโยคเดิมซ้ำซากจนปากขยับไปตามรูปประโยคที่เคยชิน สามารถพูดได้อย่างแคล่วคล่องและถูกต้องตามหลักภาษา
แม้นจะพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึงสามครั้งแต่ก็เหมือนสวรรค์ไม่เข้าข้างจึงจำต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินหันไปเรียนที่วิทยาลัยครูหางโจว และเริ่มต้นอาชีพเป็นครูสอน ภาษาอังกฤษกินเงินเดือนแค่ 20 ดอลลาร์ จนวันหนึ่งโอกาสได้ยื่นมือมาถึง เมื่อเขา เดินทางไปเป็นล่ามในการประชุมที่เมือง Seattle ประเทศอเมริกา จากโอกาสเล็กๆ ในตรอกแห่งอาชีพที่แสนคับแคบครานั้น กลับช่วยให้เขาได้รู้จักการซื้อขายสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จนต่อยอดพัฒนากลายเป็น ธุรกิจออนไลน์อาลีบาบา ที่โด่งดัง
กว่าเขาทั้งสองจะมาถึงจุดที่ยืนอยู่ปัจจุบันนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านเกาะแก่งหินและเส้นทางที่คดเคี้ยวมากมายเพื่อทดสอบความอดทน พวกเขาอาศัยความมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาตัวเอง โดยเริ่มต้นจากการเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ จากนั้นก็เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความขยันและใส่หัวเชื้อแห่งความอดทนในการฝึกฝนลงไปมาวันนี้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของพวกเขาได้ ผลิดอกออกผล เป็นของขวัญล้ำค่าที่พวกเขา ได้รับ ภาษาอังกฤษสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตเขาทั้งสอง ช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจไปทั่วโลกได้อย่างไม่สะดุดทั้งสองต่างพัฒนาตนเองจาก Zero ก้าวไปสู่ระดับ Hero ทั้งด้านฐานะทางการเงิน ศักยภาพ ในการดำเนินธุรกิจ และความสามารถทางภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็น Role Model ในการพัฒนาตน ที่ควรเจริญรอยตามเป็นยิ่งนัก
แต่ปัญหาที่เกิดกับคนไทยเรามีต้นธาร มาจากอะไรกันแน่
1. ครูไม่เก่ง ครูที่คือปัจจัยสำคัญที่สุดในเส้นทางสายเสมานี้ การเป็นครูจะต้องเก่ง ทั้งเนื้อหาและลีลาการสอน อธิบาย ให้ตัวอย่าง ประกอบและเล่าเรื่องอย่างไร จึงจะถ่ายทอดเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ใช้เวลา ในการอธิบายไม่มากก็สามารถทำให้นักเรียนจำได้ง่าย ใช้ได้คล่อง และถูกต้องตามหลักภาษา
2. ตัวเด็กเองไม่ใส่ใจ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กอยากเรียน คือครูจะต้องสร้างแรงบันดาลใจและให้เห็นความจำเป็นกระตุ้น ให้เขาหาเวลาเข้าไปตีสนิทกับภาษาอังกฤษ ทุกวัน เอาภาษาอังกฤษมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ยิ่งภาษาอังกฤษเป็นวิชาทักษะ เป็นของต้องสะสมไปเรื่อยและใช้บ่อยๆ จำให้แม่น ปฏิบัติให้มั่น จะหาเทคนิคคิดลัดคงไม่มีเพราะ 50% แห่งความสำเร็จในการเรียนภาษามาจากตัว ผู้เรียนเอง หากระดับความขยันอดทนในการฝึกฝนลดลงก็ยากที่จะถึงฝั่งฝัน
3. หลักสูตรไม่เอื้ออำนวย ผลการทดสอบภาษาอังกฤษของเด็กไทยยังอยู่ในอันดับท้ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่นๆ สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาไม่ถูกทิศทาง เด็กมีพื้นฐานความรู้ไม่แน่นเนื้อหาควรกระตุ้นให้นักเรียนมีความกล้า มิใช่กลัวที่จะพูด ควรหาฝรั่งอาสาสมัครที่เกษียณอายุแล้วเข้ามาสอนให้มากขึ้น เป็นการให้โอกาสเด็กได้สัมผัสกับฝรั่งให้มากขึ้น ยอมทุ่มเพื่อการพัฒนา แล้วเสริมด้วย e-Learning เข้ามาช่วยในการสอน
การเรียนอย่างไรให้เก่งเร็ว "ครูพี่แนน" แนะนำว่า วิธีเรียนให้ได้ผล ดีที่สุดและสั้นที่สุดคือ Copy Best Practice เลียนแบบคนที่เก่งที่สุดในเรื่องนั้นๆ ขณะที่ Christopher Wright นักเขียน พิธีกร ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง (Chris Delivery) ก็ให้ข้อคิดว่า "การเรียนภาษาอังกฤษมิใช่การเรียน (Learning) แต่มันคือการเลียนแบบ (Imitation)" สังเกตเขาออกเสียงอย่างไร จากนั้นก็ เลียนแบบ ออกเสียงให้เหมือนกับเจ้าของภาษาให้มากที่สุด อย่าเขินอายที่จะพูด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ