ผู้เขียน ณรงค์ ขุ้มทอง ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณและโรงเรียนดาวนายร้อย
ที่มา มติชนรายวัน
เผยแพร่ 11 เม.ย. 59
21 มีนาคม 2559 เป็นอีกวันหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาของไทยได้จดบันทึกไว้ว่า เป็นวันที่มีการปรับนโยบายด้านโครงสร้างการบริหารการศึกษาของไทยอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้นว่าจะยังไม่ครอบคลุมถึงโครงสร้างใหญ่ของการศึกษาทั้งหมด ซึ่งยังมีเรื่องหลักสูตรเรื่องการผลิตครู การผลิตผู้บริหาร / การวัดและประเมินผล / การบริหารสวัสดิการและค่าตอบแทน และรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอีกมากมาย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคงมีโจทย์และคำตอบอยู่ในมือค่อนข้างพร้อมแล้ว เพราะผู้เขียนเป็น 1 ใน 3 คนที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียน และโครงการเรียนรู้ด้วยโครงการ DLITV ได้มีโอกาสเสนอแนะแนวทางและบอกถึงสภาพปัญหาของการศึกษาของไทยมาโดยตลอด พร้อมเสนอผ่านสื่อมาโดยตลอดเช่นกัน
การดำเนินงานของรัฐบาลครั้งนี้อาจจะพูดได้ว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาด้วยโครงสร้างเป็นหลักก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากไปยังผู้รับผิดชอบควรคิดต่อให้ครบกระบวนการ เพราะปัญหาด้านคุณภาพทางการศึกษาของไทยมันตกหลุมดำ ซึ่งน่าจะยากยิ่งจะฉุดดึงให้พ้นมาได้ ต้องอาศัยกระบวนการคิด การมีส่วนร่วมวางแผนและเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจครั้งใหญ่เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางการศึกษาอย่างแท้จริง ผู้เขียนจึงขอเสนอข้อมูลเบื้องต้นให้รัฐบาลและ คสช.ทราบว่าปัญหาที่มีส่วนทำให้การบริหารจัดการทางการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ ที่จริงแล้วไม่ใช่ระดับเขตพื้นที่ดังที่เป็นจำเลยทางสังคมอยู่ในขณะนี้ มีแต่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีส่วนต้องรับผิดชอบ ดังนี้
1.การบริหารจัดการระดับกระทรวง ทบวง กรม นโยบายหรือแนวทางในการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ ไม่ว่าการผลิตครู การกำหนดหลักสูตร การจัดสรรงบประมาณ การติดตามและประเมินผล การออกระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ การคัดเลือกและถอดถอนผู้บริหารทั้งหมดนี้จะเป็นอำนาจและหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมทั้งสิ้น ฉะนั้นการที่กระทรวงหรือทบวง กรมต่างๆ จะปรับเปลี่ยน ยุบหรือเลิกอะไรก็ตาม ผู้บริหารระดับกระทรวงควรหากระจกส่องดูตัวเองเสียก่อน บางอย่างความผิดพลาดหรือล้มเหลวอาจจะไม่ใช่ข้าราชการระดับล่าง แต่อาจเป็นความผิดพลาดในระดับสูงก็ได้
ตรงข้ามถ้างานสำเร็จได้ผล ผู้บริหารระดับสูงมักจะได้ผลประโยชน์ได้หน้าได้ตา ยืนชูคอ แต่พอล้มเหลวกลับไม่แสดงความรับผิดชอบอย่างนี้ไม่แฟร์กัน เมื่อพบว่าระดับล่างผิดพลาด ระดับบนจะต้องรับผิดชอบด้วยซิ มันจึงจะเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย มีโครงการดีๆ มากมายที่ช่วยกันคิดช่วยกันสร้างแต่มักจะล้มเหลว ผู้ใหญ่ระดับกระทรวงก้าวหน้ากันถ้วนหน้า ผลาญเงินแผ่นดินแต่ละปีไม่น้อย คนเยอะแต่งานน้อย บนกระทรวงเต็มไปด้วยคนที่มีแต่ยศสูง เงินเดือนสูง ค่าตอบแทนสูง สวัสดิการสูง แต่พอมีความผิดพลาดหรือล้มเหลวกลายเป็นคนระดับล่างต้องรับโทษ
ฉะนั้นในโอกาสที่ประเทศปกครองโดยวิธีพิเศษเช่นนี้ หวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลองส่องดูคนใกล้ตัว (คนในกระทรวง) ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีลองใช้มาตรา 44 บ้างซิ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าความผิดพลาดต่างๆ เกี่ยวกับด้านการศึกษามา 10 ปีกว่า ผู้ที่ควรได้รับการลงโทษเป็นอันดับแรก คือ บุคคลในระดับกระทรวง ทบวง กรม เพราะคนเหล่านี้เป็นต้นน้ำแห่งความคิด คิดแล้วให้คนอื่นทำ ทำได้ไม่ได้ไม่รู้ ดังที่พบเห็นมาโดยตลอด จึงเข้าทำนองที่ว่าคนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด มีโครงการดีๆ ที่ล้มเหลวหรือไม่ได้รับการดูแลและสานต่อ เช่น โครงการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ โรงเรียนในเครือนวมินทราชูทิศ / โครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง / โครงการโรงเรียนคู่พัฒนา / โครงการโรงเรียนนำร่องอาเซียน เป็นต้น
นี่คือ 1 ใน 10 ของความล้มเหลวที่ขาดการเอาใจใส่ดูแล ไม่เห็นเจ้ากระทรวงหรือผู้บริหารระดับสูงคนไหนแสดงความรับผิดชอบ
นี่ยังโชคดีที่กระทรวงศึกษาธิการได้เข้าไปสอดส่องดูแลสนับสนุนขับเคลื่อนโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจนเดินหน้าได้อย่างดียิ่ง ยังโชคดีที่กระทรวงเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้การสอนโดยใช้นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้มาขับเคลื่อนแนวโน้มไปด้วยดี แต่ถ้าขาดการติดตามและตรวจสอบที่เข้มข้นคาดว่าจะล้มเหลวอีกเพราะเท่าที่คิดตามทางโรงเรียนไม่ได้ทำอย่างจริงจังและจริงใจ อีกเรื่องที่รัฐบาลนี้สนใจ ขับเคลื่อนด้านวิชาชีพ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคิดดีคิดถูกแล้ว เดินมาถูกทางแล้ว สร้างเจตคติเด็กใหม่ว่าเรียนเพื่อการทำงานสร้างงาน ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาปริญญา แต่เป็นห่วงกรมอาชีวะมองและวางแผนให้รอบคอบและครบวงจร
ฝึกกันจริงๆ ทำกันจริงๆ ประเมินผลเชิงประจักษ์ โดยเน้นให้นักเรียนอาชีวะทุกคนเกิดทักษะให้จงได้อย่าสร้างภาพก็แล้วกัน กลัวพอหมดอายุรัฐบาลนี้แล้วเลิกตามหลังไปเหมือนนโยบายอื่นๆ ก็แล้วกัน
2.ด้านการบริหารระดับภูมิภาค
หมายถึงระดับเขตพื้นที่ทั้งมัธยมศึกษาและประถมศึกษา 10 ปี เศษของการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารการศึกษาระดับกระทรวง 5 แห่ง แล้วกระจายอำนาจการบริหารให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ในรูปของบอร์ดบริหาร พบว่า 10 ปีเศษ ผู้บริหารต่างๆ เติบโตก้าวหน้า ครูได้วิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญมากขึ้น แต่ตรงข้ามคุณภาพทางการศึกษากลับลดลง แย่ลง กู่ไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ประเมินตรงไหน มิติไหน ตกตรงนั้น ซ้ำร้ายการบริหารต่างคนต่างทำ 1 จังหวัดมี 3-4 เขต เด็กจังหวัดเดียวกันได้เรียนรู้ไม่เท่ากัน เช่น ผอ. ก. เป็น ผอ.โรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียน 3,000 กว่าคน ได้วิทยฐานะและค่าตำแหน่งเท่ากับ ผอ. ข. ที่มีนักเรียน 30-50 คน ทำให้ ผอ.ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่มีพี่ ไม่มีอาวุโสเหมือนแต่ก่อน ไม่เชื่อไม่ฟังกัน ฉันเป็น ผอ.เหมือนกัน ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
นี่คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณภาพทางการศึกษาล้มเหลวทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้บริหารโรงเรียนควรปรับให้สอดคล้องกับปริมาณงานเป็นหลักมาใช้ใหม่ ควรรื้อฟื้นตำแหน่งครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการ ทั้งหมดที่กล่าวมาน่าจะไม่ใช่ความผิดของผู้อำนวยการเขตพื้นที่หรือ ผอ. โรงเรียนฝ่ายเดียว มันมาจากนโยบายหน่วยเหนือ ผอ. เขตพื้นที่ดูแล 2 จังหวัด แค่นี้ก็ล้มเหลวแย่แล้ว มีความสามารถจริงแต่เอาเวลาไหนไปบริหารจัดการ ตรวจสอบ ติดตาม
ตรงข้าม ถ้าผู้อำนวยการเขตพื้นที่ใช้รองผู้อำนวยการเขตที่มีอยู่หลายคนให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือใช้หลักการมีส่วนร่วมโดยมอบหมายให้ ผอ.โรงเรียนขนาดใหญ่ ครู หรือรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความรู้ความสามารถเป็นกรรมการบริหารเขตพื้นที่คอยนิเทศติดตาม ตรวจสอบ แต่ ผอ.เขตพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้วิธีนี้ ไม่คิดแนวทางนี้หรือถ้าคิดหรือทำแต่ขาดการติดตามควบคุม
นี่คือสาเหตุความล้มเหลวจึงเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้ มาตรา 44 ปรับโครงสร้างการบริหารอีกครั้ง หากมองลึกไปยัง อ.ก.ค.ศ เขตพื้นที่ส่วนใหญ่แล้วจะบริหารจัดการด้านบุคคล แต่ด้านวิชาการและการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ กลับไม่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมและดูแล ซ้ำร้ายกลับมีข่าวการซื้อขายตำแหน่งของผู้อำนวยการโรงเรียนรับเงินจากการโยกย้ายของครูและบุคลากร เล่นพรรคเล่นพวก เอาคนของตนเองมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่ ทั้งที่ไม่มีความสามารถส่งผลให้โรงเรียนตกอับตกต่ำไร้ประสิทธิภาพทุกด้าน
นี่ก็คืออีกสาเหตุหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ปรับโครงสร้างเสียใหม่
ถ้ามองถึงความเป็นธรรมผู้เขียนคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทำถูกแล้วจะรอไม่ได้ ผอ.เขตพื้นที่ ต้องยอมรับความผิดพลาดในการบริหารจัดการ รู้ทั้งรู้ว่างานเยอะภาระมาก พื้นที่กว้างขวาง ดูไม่ทัน แล้วทำไมไม่หาตัวช่วย ด้าน อ.ก.ค.ศ.พื้นที่ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีข่าวว่ากิโลเมตรละ 100,000 หรือกิโลเมตรละ 1,000,000 บาท สำหรับการโยกย้ายผู้บริหารและครูก็คงไม่มีใครสงสัยและห่วงใย จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ การเล่นพรรคเล่นพวกมีกันอย่างโจ๋งครึ่ม มักเห็นผู้บริหารที่เดินตามหลัง ผอ.เขตจะได้ดีได้ย้ายเสมอ หรือคอยดูแลรับส่งประธาน อ.ก.ค.ศ. จะได้ดีก้าวหน้าก็ยังมีให้เห็นในเวลา 5 ปี ย้าย 2-3 ครั้งก็มี
ผู้เขียนในฐานะที่อยู่ในวงการบริหารการศึกษามาร่วม 30 ปี ก็พอรู้อะไรบ้าง จึงขอเตือนและให้สติกับทุกคนที่มีผลกระทบจากการปรับโครงสร้างครั้งนี้ว่าต้องตั้งสติให้ดียอมรับความผิดพลาดตามที่เป็นข่าวอยู่ในสื่อต่างๆ ให้เอาความจริง เอาความล้มเหลวมาตั้งแล้วตั้งสติใคร่ครวญแยกผิดแยกถูก แล้วจะพบว่าเราก็เป็นคนหนึ่งมิใช่หรือที่มีส่วนทำให้คุณภาพการศึกษาของชาติล้มเหลว รัฐบาลและ คสช.เข้ามาบริหารประเทศแบบพิเศษ เข้ามาในท่ามกลางที่ประเทศขัดแย้ง รวนเร ล้มเหลว ด้อยเกือบทุกด้าน แทบจะไม่พร้อมที่ยืนอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขันและเปลี่ยนแปลง
แต่อย่างไรผู้เขียนอยากฝากเตือนไปยังรัฐบาลและ คสช.ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาจากสาเหตุอะไร เปลี่ยนแปลงแล้วควรดูแลข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ อย่างไร การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กระทบเพียงตำแหน่ง ผอ.เขตพื้นที่และคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ.เท่านั้น ส่วนข้าราชการครูจะไม่มีผลกระทบใดๆ เช่นเงินวิทยฐานะ เงิน ช.พ.ค. หรือสิทธิอื่นๆ ตามที่ผู้ไม่หวังดีพยายามโยงใยให้เกิดปัญหากับประเทศ รัฐบาลและ คสช. จะต้องไม่ทำลายขวัญและกำลังใจข้าราชการโดยเด็ดขาด และควรชี้แจงให้ประชาชนทั้งประเทศได้ทราบถึงเหตุและผลของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในครั้งนี้
อยากให้ทุกฝ่ายมองผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ชาติเราบอบช้ำมามากแล้ว อย่ามัวแต่ทะเลาะกัน อย่าคำนึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ประเทศเดินหน้าไม่ได้ โลกหมุนเร็วเปลี่ยนเร็ว ภาวะโลกร้อนและแห้งแล้งนับวันจะโหดร้ายทารุณมากยิ่งขึ้น น้ำในเขื่อนในแม่น้ำกำลังจะหมดไป อย่าคิดเผื่อคนรุ่นหลังเลย แค่คนรุ่นเราไม่รู้จะพาชีวิตรอดหรือไม่ หันหน้าเข้าหากันถึงเวลาคนไทยหยุดขัดแย้งตั้งสติ ทบทวนความผิดพลาดแล้วรวมพลังเดินหน้านำประเทศไปข้างหน้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกๆ ด้าน
โครงสร้างใหม่ที่มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานประกอบกับบุคลากรหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ผู้เขียนคิดว่าน่าจะทำให้ภาพพจน์การบริหารจัดการดูดีและโปร่งใสขึ้น การบูรณาการทางความคิดและวิชาการจะมีมากขึ้น ความช่วยเหลือทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการ คิดว่าหลังจากนี้การจัดการศึกษาในระดับจังหวัดที่แยกกันทำแยกกันคิดก็จะกลับมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ แก้ปัญหาร่วมกัน ช่วยกันติดตามและตรวจสอบร่วมกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนยังเป็นห่วงคือด้านวัฒนธรรมของบุคลากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของมหาดไทย เป็นเจ้าคนนายคน แต่ครูอาจารย์ เป็นผู้สอนคนหลากหลายความคิด พร้อมจะรับฟังคนรอบข้าง ผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนวางตนเป็นเจ้าขุนมูลนาย ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ทราบว่าหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ คิดให้ดีหรือเตรียมให้ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้าใจวัฒนธรรมของครู-อาจารย์ ต้องเข้าใจหลักสูตร เข้าใจการวัดและประเมินผลพอสมควร งานธุรการช้าไม่ได้ ต้องรวดเร็ว ผู้ว่าฯมีงานอื่นๆ มากมาย แต่ละวันแค่ถูกเชิญไปเปิดงานก็แทบเอาตัวไม่รอด ตำแหน่งรองผู้ว่าฯฝ่ายการศึกษาควรจะมีหรือไม่ อันนี้รัฐบาล คสช. ผู้เกี่ยวข้องต้องคิดและวางแผนให้ดี ในอดีตที่ผ่านมามักมีข่าวและปัญหาความล่าช้างานสารบรรณ ครูถูกรังแกข่มเหงจากระบบเจ้าขุนมูลนาย สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ความคล่องตัวเรื่องงบประมาณปากว่ากระจายอำนาจนั้นเป็นเพียงหลักการ
แต่ความจริงไม่ใช่ เช่น งบประมาณกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง โครงการใหญ่อยู่ในมือ อยู่ในอำนาจในระดับกระทรวง ทบวง กรม ทั้งสิ้น
ระดับล่าง ผอ.เขต ดูเหมือนมีอำนาจและคล่องตัวแต่จริงๆ ไม่มีส่วนกลางคิดให้เองใส่ปิ่นโตมาให้แล้ว คือ ให้ทั้งเบ็ด ทั้งปลา มาแล้ว มีผลประโยชน์หักหัวคิวมาแล้ว อย่างเช่นงานศิลปะหัตถกรรมระดับชาติ ใช้เงินปีละหลายพันล้าน มีบริษัทนายหน้าดำเนินการอย่างนี้ เป็นต้น
ความล้มเหลวในการบริหารในเขตพื้นที่หรือในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ที่ล้มเหลวจึงน่าจะไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้บริหารระดับเขต ระดับภูมิภาคทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะหน่วยเหนือวางนโยบายและโครงสร้างมาเองมิใช่หรือ เช่นสำนักงานเขตพื้นที่ ส.พ.ม. (เขตมัธยม) ยังไม่ครบทุกจังหวัด ปัญหาความล้มเหลวที่ ผอ.เขต หรือ อ.ก.ค.ศ จะต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้น เช่น การทำงานของผู้บริหารและครูที่ห่างไกล เขาอยู่กันอย่างไร เขาทำงานกันอย่างไร ผู้บริหารโรงเรียนไม่อยู่โรงเรียนเป็นแรมเดือน ครูไม่สอน รัฐบาล คสช. และกระทรวงศึกษาธิการจะต้องแก้ไขการโยกย้ายครูบางโรงเรียน ต้องการครูวิทย์-คณิต-ภาษาต่างประเทศ แต่กลับได้ครูการงานอาชีพไปแทนทั้งๆ ที่โรงเรียนไม่ต้องการ อันนี้ อ.ก.ค.ศ.จะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ แต่อีกมุมมองในท่ามกลางปัญหามากมายจากนโยบายของรัฐ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับภูมิภาคก็มีส่วนดีที่ช่วยกันผลักดัน ติดตาม กำกับดูแล จึงทำให้สภาพการณ์ดีขึ้นบ้างหรือทรงตัวอยู่ก็ขอชื่นชมผู้บริหารเหล่านี้ รัฐบาลและ คสช.ก็ควรเข้ามาดูแลส่งเสริมให้เขาก้าวหน้าเจริญเติบโตและเป็นธรรม
3.ด้านการบริหารหลักสูตรและวิธีสอนของครู
เรื่องหลักสูตรและวิธีสอนของครูก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่รัฐบาล คสช. และกระทรวงศึกษาธิการควรปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนเช่นกัน ปัจจุบันหลักสูตรไม่ตรงกับเป้าหมายของตลาดแรงงานและความต้องการของชาติ เน้นการสอน การท่องจำ ขาดการปฏิบัติและทักษะที่ผู้เรียนเรียนมากจนเกินไป การสอนเน้นสอนในห้องเรียน ความรู้ต้องมาจากครูมากกว่าการเกิดจากกระบวนการการเรียนรู้ของเด็กเป็นหลัก คนทำหลักสูตรเลิกคิดว่าถ้าเด็กเรียนมากๆ แล้วเด็กจะฉลาดและมีทักษะคิด ถ้าอย่างนี้คิดผิด รัฐบาลและ คสช. ควรนำมาวางเป้าหมายพัฒนาหลักสูตรหรือปรับปรุงหลักสูตรเสียใหม่
ด้านการสอนของครูควรเปลี่ยนและวางเทคนิคการสอนของครูเสียใหม่ ผลิตครูพันธุ์ใหม่ที่พร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม มีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้จริง ครูต้องผ่านการบ่มเพาะที่เข้มแข็งและยาวนาน กำหนดสถาบันที่ผลิตครูใหม่ให้เป็นสถาบันผลิตครูแห่งชาติ และไม่ควรมีมากเหมือนปัจจุบัน หาเป้าหมายและคุณภาพที่แท้จริงไม่ได้ ควรมีภาคละ 1 แห่งน่าจะเพียงพอ และควรกำหนดหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาครูว่าควรเรียนและบรรจุในภูมิภาค หรือมีภูมิลำเนาที่ตัวเองอยู่ก่อน
ทั้งนี้ป้องกันการโยกย้ายของครู ครูคืนถิ่นก็จะไม่มีให้ปวดหัวอีก
4.ด้านคุณภาพของผู้บริหารโรงเรียน
ผู้บริหารโรงเรียนคือโจทย์ข้อใหญ่ที่ส่งผลให้คุณภาพทางการศึกษาแย่ลงอย่างน่าใจหาย ผู้บริหารขาดประสบการณ์ ขาดความรู้ ขาดการบริหารจัดการองค์กร เส้นทางเข้าสู่ผู้บริหารง่ายเกินไป แค่เป็นครูแต่ไม่อยากสอนลงทุนอ่านหนังสือ สมัครเรียนหลักสูตรบริหาร จ่ายครบจบแน่ มีกันเกลื่อนทั่วตลาดวิชาการเมืองไทยควรรื้อฟื้นตำแหน่งผู้บริหารเสียใหม่จากตำแหน่งครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการ ให้ผู้บริหารฝึกงานการบริหารจากโรงเรียนขนาดเล็ก แล้วค่อยเติบโตทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ จนเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ต่อไป ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ตำแหน่ง ผอ. มีเด็กนักเรียน 30-50 ครู 3-5 คน และมีเงินสวัสดิการ เงินประจำตำแหน่งเท่ากับ ผอ.โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีนักเรียน 3,000-4,000 คน ครู 150-200 กว่าคน ทุกคนมีตำแหน่ง ผอ.เท่าเทียมกันหมด ศักดิ์ศรีเท่ากัน เงินประจำตำแหน่งเท่ากันก็ไม่จำเป็นจะต้องฟังใคร ฮึกเหิม เดินหน้าวิ่งเต้นเข้าสู่โรงเรียนใหญ่อย่างเดียว ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บางคนโชคดีมีเพื่อนเป็น อ.ก.ค.ศ. ได้โยกย้ายตามเป้าหมายข้างหน้า คุณภาพของโรงเรียนของผู้เรียนไม่ต้องถามหา โจทย์นี้รัฐบาลและ คสช. จะต้องรีบปฏิรูปแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
4 ด้าน 4 โจทย์ใหญ่ที่ผู้เขียนทำมาเสนอพร้อมบอกถึงสาเหตุและวิธีแก้ให้เห็นพอสังเขปนั้นถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและ คสช.ทีเดียว ที่จริงปัญหาทางการศึกษาของไทยมีอีกมากมายที่จะต้องเจาะลงลึกลงไปอีก เช่น การเรียนและส่งเสริมภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทย หากดูจากผลการประเมินระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของนักเรียน ครูทั่วประเทศ ตามหลัก Common European Framework of Reference (CEFR) ของยุโรป โดยวัดทักษะ 4 ด้าน คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน พบว่าคุณภาพด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยระดับ ม.6 สามารถเทียบเคียงกับนักเรียนในสิงคโปร์ ระดับ ม.3 เท่านั้น
ถ้าดูจากคุณภาพการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสาร จากการสำรวจของ Jobstreet.com English Lanquaqe Assessment (JELA) โดยทดสอบประชากรจำนวน 1,500,000 คน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า สิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุด 81% ฟิลิปปินส์ 73% มาเลเซีย 72% อินโดนีเซีย 59% ไทยอยู่ลำดับรั้งท้าย 55%
ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่รัฐบาล คสช. กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด เขตพื้นที่และโรงเรียนทั้งประถมและมัธยมทั่วประเทศ จะต้องนำมาวางแผนขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ แต่เวลาล่วงเลยมาไม่น้อย ผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาอังกฤษก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น นี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่บ่งบอกของการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับกระทรวงมาจนถึงระดับเขตพื้นที่และโรงเรียนล้มเหลวเช่นกัน การปฏิรูปโครงสร้างครั้งนี้ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่ไม่ควรรับโทษแต่เพียงผู้เดียวแล้วผู้บริหารระดับกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเขตพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใช่หรือไม่ มี 5 เสือ 5 แท่ง ทั้งลาภยศ สรรเสริญพร้อมทุกอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ใช่หรือไม่ รัฐบาล คสช. และกระทรวงศึกษาธิการจะต้องแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
ถ้ามั่นใจว่าผิดก็พร้อมที่จะแก้และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้าถูกถ้าดีก็ควรเดินหน้าสร้างคุณภาพทางการศึกษาเพื่อนำประเทศสู่ความเป็นสากล