ครูอัตราจ้างร้องศูนย์ดำรงธรรม ม.ชื่อดังรับสมัครเรียน เปิดศูนย์สอนเป็นปี อ้างเรียนจบรับใบประกอบวิชาชีพครู สุดท้ายไม่มีชื่อ นศ.ในมหาวิทยาลัย วอนผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจง พร้อมให้เงินคืนกับผู้เรียน...
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 59 นายวุฒินันท์ มีเงิน อายุ 26 ปี ชาว ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งครูอัตราจ้างที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น พร้อมเพื่อนครูอัตราจ้าง เข้าร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่นว่า ถูกหลอกให้เรียนปริญญาโท หลักสูตรและการสอน แต่ไม่มีชื่อเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้เกี่ยวข้อง
นายวุฒินันท์ เผยว่า ก่อนจะมีการสมัครเรียนปริญญาโท หลักสูตรและการสอน เนื่องจากมีรุ่นพี่เรียนมาก่อนและไม่มีปัญหา จึงไปสมัครเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งนี้อยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 มหาวิทยาลัยดังกล่าว ออกมาปฐมนิเทศ ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลบ้านหว้า อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยอาจารย์ระดับ ดร.และระดับรองอธิการบดี บอกว่า ผู้ที่เรียนปริญญาโท หลักสูตรและการสอนกับมหาวิทยาลัย จะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู จากกระทรวงศึกษาธิการทุกคน เมื่อฟังรายละเอียด และความน่าเชื่อถือของครูและอาจารย์ จึงจ่ายเงินค่าสมัครแรกเข้า จำนวน 7,000 บาท แยกเป็นค่าสมัคร 400 บาท ขึ้นทะเบียนใหม่ 1,800 บาท ประกันของเสียหาย 500 บาท บำรุงการศึกษาภาคเรียนที่ 1 จำนวน 5,000 บาท กับอาจารย์ที่รับสมัครและเป็นอาจารย์ที่ทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่า จะเป็นคนสอนหลักสูตรนี้ โดยเปิดการเรียนการสอนทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ที่โรงรียนบ้านหนองกุง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ รุ่นที่สมัครพร้อมกันรวม 20 คน จ่ายคนละ 7,000 บาท แต่ช่วงที่ประกาศรายชื่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าวรอบแรกเดือนพฤศจิกายน 2558 ไม่มีรายชื่อทั้ง 20 คน
ทั้งนี้ ได้ทวงถามกับอาจารย์ผู้สอน ได้รับคำตอบว่า เรียนไปก่อน เก็บหน่วยกิตไปก่อน ทางมหาวิทยาลัยกำลังพิจารณาอยู่ ทุกคนก็เชื่อและเรียนมาเรื่อยๆ จนประกาศรายชื่อรอบที่ 2 เมื่อเดือน ก.พ. 59 ก็ยังไม่มีรายชื่ออีก ครั้งนี้ทุกคนเริ่มทวงถามกับอาจารย์คนเดิม ทั้งเรื่องเงินและการจ่ายค่าเทอม เพราะตั้งแต่เรียนมายังไม่ได้จ่ายค่าเทอม ซึ่งอาจารย์ผู้ที่รับสมัครและเป็นผู้สอนมาตลอดยืนยันว่า ได้เงินไปสองแสนกว่าบาท ขอเคลียร์กับทางมหาวิทยาลัยก่อนจากนั้นอาจารย์ก็สั่งปิดเทอมตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน 59
“พวกผมเรียนรุ่นเดียวกันทั้ง 2 ศูนย์รวมแล้วประมาณ 70 คน ก็หารือกันถึงเรื่องการรับเงินค่าสมัคร น่าจะเป็นการรับเงินค่าสมัครแรกเข้า ที่ครูผู้สอนเก็บไปแล้วไม่ส่งมหาวิทยาลัย เพราะถ้าส่งให้มหาวิทยาลัยตามระบบขั้นตอนคงไม่มีปัญหา จึงอยากให้ทั้งมหาวิทยาลัยและครูที่เก็บเงินไป ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ด้วย เพราะทุกคนเสียเวลามาเป็นปี หมดหวังที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพ แต่ไม่มีคนรับผิดชอบ เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงเป็นตัวแทนเข้าร้องเรียนในครั้งนี้”
ในขณะที่ น.ส.ลลิตา พันธุลา หนึ่งในผู้ร้องเรียน เผยว่า ปัจจุบันทำงานเป็นครูอัตราจ้าง และได้สมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยดังกล่าวในวันเดียวกับนายวุฒินันท์ แต่เรียนคนละศูนย์ ส่วนสถานที่เรียนคือ ที่เดียวกับนายวุฒินันท์ แค่คนละอาคาร ส่วนค่าสมัครแรกเข้าจำนวน 10,000 บาท เป็นการโอนผ่านธนาคารเข้าบัญชี ดร.ท่านหนึ่ง ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยดังกล่าว เรียนมาจนถึงปัจจุบันเป็นปีแล้ว ยังไม่มีรหัสนักศึกษา ไม่มีชื่อเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว จึงทวงถามกับ ดร.คนดังกล่าว ก็ไม่มีความกระจ่าง กลับตอบว่า ไม่เคยมีใครถามเรื่องนี้ จึงไม่มีคำตอบ เห็นว่าการกระทำเช่นนี้ ไม่โปร่งใส เพราะทุกคนที่สมัครเรียนต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการอยากได้ใบประกอบวิชาชีพครู จึงตัดสินใจเข้าร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมให้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงเรื่องนี้ และให้คืนเงินกับผู้เรียนทุกคนด้วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องประจำศูนย์ดำรงธรรมได้รับเรื่องไว้ เพื่อเสนอนิติกรตามขั้นตอน จากนั้นจะเรียกทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 8 เมษายน 2559