ชี้ที่ผ่านมากระจุกตัวโรงเรียนใหญ่-กลางย้ำยึดหลักไม่สมัครใจมีค่าเช่าบ้านให้
"ดาว์พงษ์" เตรียมแผนเกลี่ยครู เผยรอบนี้ยังไม่ใช้ยาแรงถึงขั้นจับย้ายฉุกเฉิน ชี้ที่ผ่านมาครูกระจุกตัวนิ่งอยู่ที่โรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดกลาง แนะต่อไปควรขยับ-โยกครูไปมาตามจำนวนนักเรียนแต่ละปี ย้ำถ้าใครไม่สมัครใจย้ายมีค่าเช่าบ้านให้
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งข้อมูลสภาพปัญหาอัตรากำลังการบรรจุครู รวมถึงปัญหาครูขาด ครูเกิน ปัจจุบันให้ตนพิจารณานั้น ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะต้องมาดูแลเรื่องนี้ สำหรับนโยบายในการเกลี่ยครูของตนนั้นจะไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง เช่น จับครูย้ายทันที แต่จะให้ สพฐ.ศึกษาในเชิงพื้นที่ดูเป็นรายจังหวัดถึงบริบทสภาพแวดล้อม ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะไม่เหมือนกัน ข้อมูลครู นักเรียนให้ชัดเจน เพื่อให้ กศจ.นำไปใช้ในการพิจารณาและหาลักษณะแนวทางการโยกย้าย อย่างไรก็ตาม จากนี้จะต้องเกิดการขยับตัวแน่นอน ส่วนที่ข้อมูลระบุว่า ปัญหาขาดแคลนครูส่วนหนึ่งเพราะมีโรงเรียนขนาดเล็กมากเกินไปนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้คงยังไม่ถึงขั้นจะไปไล่ยุบ การยุบหรือควบรวมโรงเรียนต้องดูหลายองค์ประกอบ ชุมชนต้องรับได้ ในชั้นนี้จะใช้วิธีการบริหารจัดการให้ไปด้วยกันให้ได้ แต่อนาคตโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องมีจำนวนลดลง เพราะถ้าดูจำนวนครูเทียบกับจำนวนห้องเรียนในปัจจุบัน เห็นชัดเจนว่าครูเกิน แต่ก็ไปกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ก็ต้องเกลี่ย ต้องมาดูให้สมเหตุสมผล เชื่อว่าครูทุกคนเข้าใจ อาจมีกระทบกระเทือนบ้าง แต่ต้องดูให้เหมาะสมที่สุด ซึ่ง สพฐ.เองก็มีหลักอยู่แล้ว เช่น ครูที่ไม่พร้อมย้ายไปโรงเรียนไกลๆ ก็มีค่าเช่าบ้านให้
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับสัดส่วนในการเกลี่ยครู ตนคิดว่าคงต้องดูถึงระดับชั้นเรียนจำนวนนักเรียนต่อห้อง รวมถึงต่อไปจะต้องกำหนดจำนวนห้องเรียนที่เหมาะสมในแต่ละชั้น ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียน ก. มีเด็ก 40 คนต่อห้อง ซึ่งความจริงแล้วมี 5 ห้องเรียนก็เพียงพอแล้ว แต่อยากจะมีมากกว่านั้น เพราะอยากรับเด็กให้มากขึ้น ต่อไปต้องกำหนดจำนวนห้องเรียนในแต่ละชั้นเพื่อกระจายเด็กและครูไปโรงเรียนอื่นบ้าง ต่อไปต้องดูกันถึงขนาดนั้น จำนวนห้องเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้นต้องดูและหาวิธีการเกลี่ยให้เหมาะสม เพราะจริงๆ แล้วการปรับจำนวนครูเป็นไปตามกลไกล เพราะจำนวนเด็กในแต่ละปีการศึกษาไม่เท่ากัน ปีนี้โรงเรียนนี้มาก โรงเรียนนี้น้อย ก็ต้องขยับให้ไปกันได้ แต่ที่ผ่านมา สพฐ.เองก็ยอมรับว่า แม้จำนวนเด็กจะเปลี่ยนไปก็ไม่เคยมีการขยับเลย นิ่งอยู่อย่างนั้น ทำให้มีปัญหาครูขาด ครูเกิน เบื้องต้นแนวทางที่จะมาช่วย จะใช้ครูอัตราจ้าง เน้นกระจายไปในโรงเรียนที่ขาด โรงเรียนใดที่มีครูเยอะอยู่แล้ว แต่ก็ยังได้ครูอัตราจ้างอยู่ ก็คงต้องขออัตรากำลังคืน
"ผมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ เราต้องพยายามให้ กศจ.เข้ามาแก้ปัญหาการเกลี่ยครูให้ แต่จะยังไม่เกิดขึ้นในการปรับย้ายครูในรอบนี้ เพราะคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ทั้ง 225 เขตพื้นที่ฯ ทำไว้แล้ว ต้องยกประโยชน์ให้ก่อน โดยจะพยายามทำให้การปรับย้ายหรือการเกลี่ยครูรอบหน้าสมบูรณ์ขึ้น" รมว.ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 8 เมษายน 2559