รมว.ศึกษาธิการ แจงนโยบายเกลี่ยครูเป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ยันต้องมีการขยับแน่ เตรียมข้อมูลให้ กศจ.พิจารณา ยึดอัตราครูจ้างในโรงเรียนที่มีครูเกินคืน
วันนี้ (7เม.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้ส่งข้อมูลสภาพปัญหาอัตรากำลังการบรรจุครู รวมถึงปัญหาครูขาด ครูเกิน ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ตนพิจารณานั้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)ขึ้นแล้ว กศจ.ก็ต้องลงดูแลเรื่องนี้ โดยนโยบายในการเกลี่ยครูของตนจะไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง หรือ จับครูย้ายทันที แต่จะดูตามบริบทของพื้นที่และต้องมีการขยับแน่ ซึ่ง สพฐ.ต้องเตรียมข้อมูลครู นักเรียน และสภาพแวดล้อมของแต่ละจังหวัดให้ชัดเจน เพื่อให้ กศจ.นำไปใช้ในการพิจารณา ส่วนที่ข้อมูลระบุว่า ปัญหาขาดแคลนครูส่วนหนึ่งเพราะมีโรงเรียนขนาดเล็กมากเกินไปนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ คงยังไม่ถึงขั้นจะไปยุบหรือ ควบรวมโรงเรียน ต้องดูหลายองค์ประกอบ ชุมชนต้องรับได้ จะใช้วิธีการบริหารจัดการให้ไปด้วยกันให้ได้ แต่อนาคตโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องมีจำนวนลดลง เพราะถ้าดูจำนวนครู เทียบกับจำนวนห้องเรียนในปัจจุบัน เห็นชัดเจนว่า ครูเกิน แต่ก็ไปกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ก็ต้องเกลี่ยให้เหมาะสม
“การปรับจำนวนครูเป็นไปตามกลไก เพราะจำนวนเด็กในแต่ละปีการศึกษา ไม่เท่ากัน ปีนี้โรงเรียนนี้มาก โรงเรียนนี้น้อย ก็ต้องขยับให้ไปกันได้ แต่ที่ผ่านมาสพฐ.เองก็ยอมรับ ว่า แม้จำนวนเด็กจะเปลี่ยนไป ก็ไม่เคยมีการขยับครูเลย นิ่งอยู่อย่างนั้น ทำให้มีปัญหาครูขาด ครูเกิน เบื้องต้นแนวทางที่จะมาช่วยแก้ปัญหาขาดครู จะใช้ครูอัตราจ้างโดยเน้นกระจายไปในโรงเรียนที่ขาด ส่วนโรงเรียนใดที่มีครูเยอะอยู่แล้ว แต่ก็ยังได้ครูอัตราจ้างอยู่ ก็คงต้องขออัตรากำลังคืน การเกลี่ยครูนี้ เชื่อว่าครูทุกคนเข้าใจ อาจมีกระทบกระเทือนบ้าง แต่ต้องดูให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งสพฐ.เองก็มีหลักการอยู่แล้ว เช่น ครูที่ไม่พร้อมย้ายไปโรงเรียนไกลๆ ก็มีค่าเช่าบ้านให้ ผมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ เราต้องพยายามให้กศจ. เข้ามาแก้ปัญหาการเกลี่ยครูให้ แต่จะยังไม่เกิดขึ้นในการปรับย้าย ครูในรอบนี้ เพราะคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคคลกรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ทั้ง 225 เขตพื้นที่ ทำไว้แล้ว ต้องยกประโยชน์ให้ก่อน โดยจะพยายามทำให้การปรับย้าย หรือการเกลี่ยครูรอบหน้าสมบูรณ์ขึ้น” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวและว่า สำหรับสัดส่วนในการเกลี่ยครู ต้องดูจำนวนนักเรียนต่อห้อง รวมถึงต่อไปจะต้องกำหนดจำนวนห้องเรียน ที่เหมาะสมในแต่ละชั้นเรียนของแต่ละโรงเรียนด้วย เพื่อกระจายเด็กและครูไปโรงเรียนอื่นบ้าง.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 7 เมษายน 2559