เดินหน้า “ปฏิรูป การศึกษาไทย”... พุ่งเป้าไปที่ “การประเมิน” วันนี้คงจะเห็นเค้าลางของความขัดแย้งมากขึ้น บางคนก็ว่า...การประเมินและประกันคุณภาพโรงเรียน ควรได้รับการหยุด พักไว้ก่อนหรือไม่? หลายฝ่ายก็เสนอรุนแรงไปกว่านั้นอีก...ให้ยุบหน่วยประเมินและประกันคุณภาพทั้งหมด ความจริง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า กระทรวงฯเองไม่เคยมีข้อเสนอให้หยุดไว้ มีแต่ว่า “เราทำตามโรดแม็ปที่ตกลงกันไว้...เป็นทางการ” โรดแม็ปที่ว่า เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ฝ่ายประเมินภายนอก สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) กับ ฝ่ายกระทรวง...ผู้ถูกรับประเมิน ก็มีหน่วยงานที่เรียกว่าประเมินภายใน “ตกลงกันว่า ต้องยกเครื่อง 3 เดือนแรก...ถึงมกราคม 2559 ต่างฝ่ายต่างไปคิดกันมาวิธีการประเมิน ตัวชี้วัดที่ดีเป็นยังไง”
3 เดือนต่อมา...กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน เป็นช่วงการพัฒนาวิธีการร่วมกัน...กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน พ.ร.บ.การศึกษา พระราชกฤษฎีกาตั้ง สมศ.ก็บอกว่า ในการประเมินนั้นต้องได้รับความเห็นชอบ และทำไปด้วยกัน...ป่วยการที่ “ฝ่ายจะประเมิน” จะเข้ามาประเมิน “ฝ่ายถูกประเมิน” โดยที่...“คนถูกประเมิน” ไม่เห็นด้วย “ฉะนั้น...ถ้าโรดแม็ปช่วงที่สองมีระยะเวลาสามเดือน ถ้าตกลงกันยังไม่ได้ก็ต้องเลื่อน เพราะจะไปโรดแม็ปช่วงที่สามไม่ได้ โดยที่โรดแม็ปช่วงที่ 3 พอตกลงกันได้แล้ว เดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม คือ การทดสอบร่วมกัน “เทสต์รัน”...
นพ.ธีระเกียรติ บอกว่า สิ่งสำคัญ คณะทำงานร่วมกันเห็นว่า เราควรมีวิธีการประเมินที่เป็นสากล ทราบว่า...มีการทำงานร่วมกัน แต่ยังไม่เห็น ฉบับสุดท้ายว่าที่ตกลงร่วมกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบหรือยัง “ตามกฎหมาย กระทรวงฯต้องเห็นชอบก่อน ยังไม่เดินไปถึงโรดแม็ปที่สาม ทั้งทางกระทรวงฯ และส่วนตัว ไม่ได้คิดว่าจะต้องหยุด การหยุดแล้วไม่ได้ทำอะไรให้ถูกต้องก็ไม่มีประโยชน์...เข้าใจว่าฝ่ายที่เสนอให้หยุดก็เพื่อต้องการที่จะขอเวลานานๆ เพื่อที่จะพัฒนาให้ถูกต้อง” ประเด็นสำคัญสองเรื่อง หนึ่ง...ฝ่ายที่ สมศ.บอกว่า ถ้าหยุดจะทำความเสียหายให้กับประเทศ ล้าหลังกี่ปี สองฝ่ายที่บอกว่าต้องหยุด...เขาก็บอกว่า ถ้าประเมินผิดๆ ประเทศก็จะยิ่งเสียหาย ต่างฝ่าย...ต่างก็มีเหตุผล ชวนให้ผู้อ่านคิดอย่างนี้ ...ใคร?ที่รับผิดชอบเรื่องมาตรฐานการศึกษา หรือมาตรฐานของโรงเรียน?
“โรงเรียน”...คือคำตอบ นพ.ธีระเกียรติ ย้ำว่า สังคมต้องเข้าใจให้ถูก โรงเรียนและกระทรวง หรือรัฐบาล หรือคนจัดเป็นผู้รับผิดชอบแน่นอน ฝ่ายประเมินก็คือฝ่ายที่มาประเมินและตรวจสอบดูว่าฝ่ายที่จัดใช้ได้หรือเปล่า สมมติ...มาตรฐานออกมาไม่ดีจริงๆ ต่อให้การประเมินหรือระบบประเมิน ประกันดี ก็ไม่ได้ทำให้ตรงนี้ดีขึ้น...เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบ คนรับผิดชอบคือ “คนจัดการศึกษา” ทีนี้...ถ้ามาตรฐานไม่ดีเกิดจากฝ่ายประเมินบอกว่าไม่ดี แต่โรงเรียนยืนยันว่าทำไว้ดีอยู่แล้ว แต่คุณประเมินผิด...ก็มีโอกาสเกิดขึ้น แล้วตรงนี้ใคร?รับผิดชอบ ถ้ามีความผิดพลาดที่การประเมิน...ฝ่ายประเมินต้องรับผิดชอบ จะเห็นว่าช่วงนี้ตามโรดแม็ป เราต้องการทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง “รู้ว่าการประเมินอย่างไหนเป็นการประเมินและประกันที่ถูกต้อง...ไม่งั้นก็จะกลายเป็นฝ่ายที่ถูกประเมิน...โรงเรียนก็บอกว่า วิธีการคุณผิด ฝ่ายที่เข้ามาประเมินก็บอกว่า...คุณจัดการศึกษาได้ไม่ดี โรงเรียนคุณไม่ได้มาตรฐาน ต้องมาเคลียร์กันตั้งแต่ต้น หนึ่ง...ใครรับผิดชอบเรื่องมาตรฐานโรงเรียน”
ประเทศฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา หรือในยุโรปเอง ใช้ระบบนี้มาแล้วว่า...การประเมินต่อให้ถูกต้อง ก็ไม่ได้ช่วยมาตรฐานของโรงเรียน และก็ไม่ทำร้าย คือไม่มีผล...พูดง่ายๆ “คนดี” เขาก็ทำดีอยู่แล้ว “คนไม่ดี” คุณไปชี้หน้าด่าเขายิ่งทำให้เขาแย่ เขาจะยิ่งสู้ “วิธีการประเมิน” จึงสำคัญมาก ถ้าไปประเมินโดยเฉพาะเรื่องโรงเรียน ไม่เหมือนประเมินรองเท้าที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด หรือประเมินบริษัทรถยนต์ เราไปยุ่งกับคน หลักสูตร ไม่มีวิทยาศาสตร์ตายตัวจะดีหรือไม่ดี จะเทียบกับอะไร วิธีคิดง่ายๆ...มาตรฐานโรงแรม 3 ดาว...5 ดาว...6 ดาว ระบุชัดว่าแต่ละดาวต้องมีอะไรบ้าง คำถามว่า “ดี”...เมื่อเทียบกับอะไรจึงสำคัญมาก? ต่างจังหวัดห่างไกลมีแค่โรงแรม 3 ดาว 2 ดาว...ชาวบ้านก็บอกว่าดีมาก...หรูแล้ว แต่ชาวกรุงไปรู้สึกทันทีไม่ไหว นี่แหล่ะที่ว่า...ไม่ได้มาตรฐานเมื่อเทียบกับอะไร “ชอบไปบอกว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่อง...มาตรฐานโรงเรียนที่ดีเป็นอย่างนี้ ลงไปประเมินต้องมีตัวชี้วัดอย่างนี้ ต้องมี...การประกันให้เรามั่นใจว่าโรงเรียนได้จัดการศึกษาได้ดี” หัวใจของ “การประกัน” ก็คือ “ผู้ประเมิน”...ถ้าไม่มั่นใจผู้ประเมินจะไปประเมินไม่ได้ ไม่ใช่แค่เอาตัวชี้วัดหรือเอากระดาษลงไป หรือให้ทำ ตอบแบบสอบถามชุดเดียวกันขึ้นมา...ทำแบบนั้นเขาก็จัดให้ได้หมด หรือเขาจะสู้
เหตุผลสำคัญ...ไม่มีใครอยากจะบอกว่าตัวเองไม่ดี
“ผู้ประเมินที่ลงไปดูอย่างเห็นอกเห็นใจและมีกัลยาณมิตรเทียบกับสิ่งที่เขามอง เราตั้งเป้าไว้แล้วเท่านี้...ชาวบ้านในพื้นที่จริงๆเขาอาจจะต้องการแค่โรงแรมระดับ 3 ดาวก็พอแล้ว ลงไปดูก็บอกว่าเป็นยังไง ใช้ได้ไหม มีความจำเป็นต้องทำเป็น 5 ดาว...6 ดาวหรือเปล่า อาจจะไม่จำเป็น เพราะเขาดีมากอยู่แล้ว” สุดท้าย...ถ้าจะไปบอกว่าเขาดี...ไม่ดี ก็ไม่แคร์ เพราะเขามีลูกค้าที่พอใจใช้บริการเขาอยู่แล้ว คนประเมินจะบอกให้เพิ่มเป็น 6 ดาวยังไงก็ไม่เห็นความจำเป็น...หน่วยประเมินต้องเข้าใจตัวเองรับผิดชอบเรื่องอะไร ฟังท่านนายกฯพูดบ่อยๆไหม มีใครสูงต่ำเท่ากันไหม เวลาพูดว่าดี...เราจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณ ดีเมื่อเทียบกับอะไร ใครจะบอกว่าอะไรดี...ไม่ดี ต้องบอกให้ได้ว่าเทียบกับอะไร ไม่งั้นจะรู้ได้อย่างไร
ก็แค่พอใจ...ไม่พอใจ
ชี้กันให้ชัดๆ “ฝ่ายที่รับผิดชอบมาตรฐาน” คือโรงเรียน ผู้จัดการศึกษา... “ฝ่ายที่เข้ามาประเมิน”...รับผิดชอบเรื่องประเมินต้องไปทำวิธีประเมินให้ถูกและดี เข้ากับบริบทประเทศไทย แล้วตกลงกันได้กับฝ่ายถูกประเมิน “อย่ามาอ้างว่าประเทศไทยจะตกต่ำ ถ้าจะตกต่ำก็เป็นเพราะฝ่ายจัดการศึกษาไม่ดี ถ้าไม่มีคุณ...ประเทศไทยตกต่ำเรื่องไม่มีประเมิน...ไม่มีประกัน เพราะรับผิดชอบเรื่องนั้น...ควรจะภูมิใจถ้าประเมินได้ดีก็สะท้อนถึงวิธีการประเมินดี...ถ้าไม่ได้ประเมิน ไม่มีหน่วยประเมิน...ประกันแล้วประเทศไทยจะล้มเหลว ให้พูดให้ถูก...ประเทศไทยจะล้าหลังเรื่องวิธีประเมิน ไม่มีการพัฒนาไปอีกหลายปี หรืออาจจะดีขึ้นเรายังไม่รู้ ถ้าเข้าใจก็จะไม่ได้ต้องมาทะเลาะกัน” การหยุดประเมินไม่ได้แปลว่าหยุดโรงเรียนให้มีมาตรฐาน มาตรฐานโรงเรียนขึ้นอยู่กับครู หลักสูตรและปัจจัยต่างๆ หลายประเทศคิดได้ตรงนี้ก็เลยยุบหน่วยประเมินไปเลย ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ ไม่เห็นด้วย...ถ้าประเมินได้ดี ก็จะเป็นกระจกที่ดีมาก แต่เราไม่มีกระจกก็ยังได้ เราก็ยังจะรู้อยู่ว่าเราสวยหรือไม่สวย ใช้วิธีอื่นบอกเราได้ “ไม่มีกระจก...ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะหล่อน้อยลงหรือมากขึ้น แต่เราอาจจะไม่มีทิศทางว่าจะไปทางไหนชั่วคราว แล้วเราก็อาจจะไม่รู้ว่าจะทำให้หล่อขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรดี...สมัยก่อนที่ยังไม่มีหน่วยประเมินก็ไม่ได้แปลว่ามาตรฐานการศึกษาไทยไม่ดี ไม่เกี่ยวกันเลยใช่ไหม ถ้าเราแยกได้ชัด...จะเลิกทะเลาะกันได้ ใครจะต้องทำอะไร”
“ฝ่ายประเมิน” แทนที่จะวิ่งอยากจะประเมินก็จะไปวิ่งวิธีพัฒนาการประเมิน ถาม สมศ.กลับ แล้วก็ต้องถามกระทรวงศึกษาธิการด้วย ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานดีหรือยัง เรื่องพัฒนาหลักสูตร
ประเด็นสำคัญ...ต้องทำตามโรดแม็ป “การปฏิรูป”...ไม่ได้หยุดนิ่ง ขอให้อดทนกันหน่อย.
ที่มา: http://www.thairath.co.th