นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธรางกูร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 13 เปิดเผยว่า ภายหลัง ศธ.แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ ศธภ.และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคนั้น ขั้นตอนต่อจากนี้ ศธภ.จะลงพื้นที่ไปขับเคลื่อนการศึกษา โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนวางแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ศธ. และบริบทของท้องถิ่น ซึ่งทุกส่วนต้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เท่าที่คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร ในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทุกคนยินดีร่วมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในจังหวัดของตนเอง โดยทำหน้าที่หัวโต๊ะขับเคลื่อนการบริหารจัดการร่วมกับคณะกรรมการ กศจ. ที่มาจากตัวแทนของรัฐ เอกชน ประชาชน ครู และท้องถิ่น
ดังนั้น คงไม่ต้องกังวลกรณีผู้ว่าฯ ไม่มีความรู้เรื่องการศึกษาแล้วจะขับเคลื่อนจัดการศึกษาได้หรือไม่ เนื่องจากทุกเรื่องต้องออกมาจากมติของบอร์ด กศจ. ขณะที่ผู้ว่าฯ จะสั่งการตามอำเภอใจไม่ได้
ด้านนายอดุลย์ กองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อำนาจเจริญ เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ ศธจ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา จ.อำนาจเจริญ มีปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 172 โรง แต่เมื่อมีโครงสร้างใหม่ก็มั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะทุกภาคส่วนจะบูรณาการการทำงานด้านการศึกษาภายในจังหวัดร่วมกัน ผ่านแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด
ที่มา ข่าวสด ฉบับวันที่ 6 เม.ย. 2559 (กรอบบ่าย)