เมื่อวันที่ 31 มีนาคม รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการบริหารราชการของศธ.ในภูมิภาคว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคที่มีพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน วันที่ 1 เมษายนนี้จะเสนอที่ประชุมพิจารณาและให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการกศจ. ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนผู้แทนของ ศธ.โดยตำแหน่งจำนวน 6 ตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 462 ตำแหน่ง
ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)
ขณะเดียวกัน จะเสนอวิธีการคัดเลือกผู้แทนภาคประชาชน ในท้องถิ่น 2 คน และผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่น 2 คน ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เวลานี้ว่าจะใช้แนวทางใดแต่บอกได้ว่าจะมุ่งคัดเลือกเพื่อให้ได้คนดีและเป็นที่ยอมรับจากท้องถิ่นมาเข้าร่วม เพราะเราต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาช่วยขับเคลื่อนการศึกษา โดยจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการกศจ.ที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งด้วยโดยให้มีวาระ 2 ปี
อนึ่ง องค์ประกอบของ กศจ. มีจำนวนทั้งสิ้น 22 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าฯเป็นประธานศึกษาธิการภาคในพื้นที่ที่รับผิดชอบเป็นรองกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนโดยตำแหน่งของ ศธ. ได้แก่ ผู้แทน สพฐ., ผู้แทนสอศ., ผู้แทนสกอ., ผู้แทน ก.ค.ศ., ผู้แทน สช.และผู้แทน กศน.,ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด, ท้องถิ่นจังหวัด, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด,ประธานหอการค้าจังหวัด,ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดและวัฒนธรรมจังหวัด, ผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่น 2 คน,ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่น 2 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านบริหารงานบุคคลหรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 3 คน และศึกษาธิการจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ชงชื่อผู้แทนศธ.นั่ง"บอร์ดกศจ."ในสัปดาห์นี้
ปลัด ศธ.เตรียมชงชื่อผู้แทน ศธ.นั่ง กศจ. รวม 462 ตำแหน่ง 77 จังหวัด ให้ "ดาว์พงษ์" พิจารณาในสัปดาห์นี้ เผยมั่นใจได้ตัวแทนภาคประชาชนเลือกได้คนดี หวังช่วยขับเคลื่อนการศึกษา
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ในวันที่ 1 เมษายน ตนจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ กศจ.ใน 77 จังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) เป็นรองประธาน เฉพาะในส่วนของผู้แทนโดยตำแหน่งของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 6 ตำแหน่ง รวม 462 ตำแหน่ง ดังนี้ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้แทนสำนักงานงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้แทนสำนักงานคณะงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งจะเสนอวิธีการคัดเลือกผู้แทน กศจ.ที่มาจากภาคประชาชน ข้าราชการครูในท้องถิ่น ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะใช้แนวทางใด แต่จะเป็นแนวทางการคัดเลือกเพื่อให้ได้คนดี เพราะเราต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาช่วยขับเคลื่อนการศึกษา
"ผู้แทนจาก สพฐ.จะมาจากเขตพื้นที่ฯ ส่วนผู้แทนจาก กศน.จะมาจาก ผอ.กศน.จังหวัด และถ้าคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เดิมซึ่งมาจากการเลือกตั้งและสรรหา และถูกยุบเลิกไปแล้ว อยากกลับเข้ามาเป็นกรรมการ กศจ. ก็ไม่ได้ขัดขวาง โดยสามารถกลับเข้ามาเป็นกรรมการได้ในส่วนของภาคประชาชน" ปลัด ศธ.กล่าว
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า เบื้องต้นตนจะเสนอให้กรรมการ กศจ.ที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง มีวาระการดำรงตำแหน่งได้เป็นเวลา 2 ปี ส่วนคณะกรรมการโดยตำแหน่ง เมื่อเปลี่ยนคนใหม่ ภาระหน้าที่ก็จะหมดตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดวาระ ส่วนการแต่งตั้ง ศธภ. และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตัวจริงนั้นยังไม่ได้มีการหารือ ขอเวลาทำงานในรูปแบบนี้ไปก่อน 3-6 เดือน จากนั้นจะค่อยๆ ประเมินว่าสามารถทำงานได้ดีหรือไม่ หากดีก็อาจไม่เปลี่ยนแปลง ให้ทำงานต่อเนื่องไป โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ ศธจ.ต่อไป ส่วนผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อื่นๆ และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ก็ทำหน้าที่รอง ศธจ. ส่วนที่คิดว่า ผอ.สพม.จะรู้สึกว่าถูกลดตำแหน่งนั้น ตนไม่คิดเช่นนั้น เพราะเขตพื้นที่ฯ ยังอยู่ ทุกคนยังเป็น ผอ.เขตพื้นที่ฯ ไม่ได้ถูกยุบหรือลดตำแหน่ง.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 1 เมษายน 2559