ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต
พฤติกรรมมนุษย์ถูกกำหนดโดยข่าวสารข้อมูลและความรู้ จะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และบ่อยครั้งถูกกำหนดโดยไม่มีข่าวสารข้อมูลและไม่มีความรู้ เช่น คนสมัยโบราณขาดความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ เกิดความไม่มั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ และมีความเชื่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเองสามารถดลบันดาลให้คุณให้โทษกับตนได้ จึงส่งผลต่อการปฏิบัติด้วยการบูชาบวงสรวง ยอมสยบต่ออำนาจที่ตนมองไม่เห็นและไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จนถึงกับพยายามเอาใจด้วยการบูชายัญแม้กระทั่งมนุษย์ รวมทั้งสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย จนถึงสัตว์เล็ก เช่น ไก่ นกเขา ด้วยการหักคอให้เลือดสาดและดิ้นบนพื้นดิน ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่เกิดจากความรู้ข่าวสารข้อมูล หรือไม่รู้ข่าวสารข้อมูลที่แท้จริงเนื่องจากการขาดการวิจัยอย่างมีหลักมีฐานพิสูจน์ให้เห็นจนเป็นเรื่องที่ซ้ำๆ กันได้ และความไม่รู้นำไปสู่ความเชื่อที่ไร้เหตุไร้ผล ที่เรียกว่า ความเชื่องมงาย ส่งผลต่อการปฏิบัติในแง่มุมต่างๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้
ตัวอย่างของความรู้ที่ผิดๆ หรือรู้ไม่แท้จริง คือ ความเชื่อที่ว่าโลกมีสัณฐานแบน การเดินทางถ้าเดินทางทางเรืออาจจะตกจากขอบโลกได้ หรือเชื่อว่าโลกตั้งอยู่บนหลังเต่า เมื่อเต่าขยับตัวก็จะเกิดการสั่นไหว นั่นคือ แผ่นดินไหว ความเชื่อที่ผิดๆ ว่าโลกแบนทำให้มนุษย์หวาดกลัวไม่กล้าเดินทาง และที่สำคัญอาจจะหาทางกลับไม่ได้ และผลสุดท้ายมีการคิดค้นเข็มทิศและเกิดความเชื่อมั่นว่าจะไม่หลงทิศทาง แต่เมื่อมีการพิสูจน์ว่าโลกมีสัณฐานกลม มนุษย์เริ่มคลายความกลัวดังกล่าวและเปลี่ยนวิธีความคิดและการปฏิบัติ โดยข้อสันนิษฐานและอนุมานต่างๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นชัดที่สุดเมื่อมีการส่งมนุษย์อวกาศออกไปนอกโลก และถ่ายรูปให้เห็นว่าโลกมีสัณฐานกลม ในความเป็นจริงเมื่อมีการส่งดาวเทียมขึ้นไปและกลับลงมาก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างประจักษ์ชัดได้ว่าโลกมีสัณฐานกลม
ในกรณีเกี่ยวกับโลก กรีกโบราณเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ โลกมนุษย์เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งประเสริฐ โลกมนุษย์คือศูนย์กลางของจักรวาล ดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นดวงไฟดวงใหญ่หมุนรอบโลก ต่อมา มีนักปราชญ์ได้กล่าวว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวผิด ที่ถูกคือ ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีดาวดวงอื่นๆ ทั้งดาวฤกษ์ ดาวนพเคราะห์ล้อมรอบ และโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ โดยในหนึ่งรอบนั้นใช้เวลาที่สมมติโดยมนุษย์เป็นวินาที นาที และชั่วโมง การหมุนแต่ละรอบจะกินเวลา 24 ชั่วโมงบวกลบ และความรู้ดังกล่าวก็สามารถคำนวณได้เป็นเวลา เป็นเดือน เป็นปี โดยมีความเหลื่อมกันบ้างเล็กน้อย แต่โดยทั่วๆ ไปถือเป็นการโคจรรอบดวงอาทิตย์อย่างเป็นระบบ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการกำหนดเวลาโดยมีโลกเป็นเทศะ (space) เวลา 24 ชั่วโมงจึงเป็นสิ่งที่กำหนดโดยเทศะบนโลก ดังนั้น ถ้าเดินทางออกนอกโลกไปในอวกาศ เวลาดังกล่าวก็จะไม่มีจุดเริ่มต้น เวลาก็จะหายไป ปรากฏการณ์ของโลกจึงเป็นปรากฏการณ์ที่กำหนดโดยเทศะคือโลก และเวลาคือการนับจำนวนเวลาของการหมุนรอบดวงอาทิตย์ โดยเอาจุดใดจุดหนึ่งเป็นจุดนิ่ง เช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช หรือเริ่มต้นปีของการสถาปนาราชวงศ์ ฯลฯ เวลาจึงกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในการเพาะปลูก ทำการเกษตร ในการกำหนดตารางเวลาของสิ่งก่อสร้าง ในการทบทวนเรื่องของอดีตว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นกี่ปีมาแล้วในสมัยไหน เป็นต้น
ความรู้ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ชัดก็จะนำไปสู่ความเชื่อที่อาจจะไม่อยู่บนฐานของความรู้ที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติในแนวทางต่างๆ ความรู้ของปรากฏการณ์ธรรมชาติมีวิธีการง่ายๆ คือ การสังเกตหรือการทดสอบ ทดลองกระทำ ลองผิดลองถูก (trial and error) จนซ้ำๆ หลายครั้งเกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นความรู้ที่ไม่ผิด แต่ก็ไม่รับรองได้เสมอไปเพราะไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ หรือจะเป็นระบบก็เป็นระบบอย่างหลวมๆ แต่ถ้ามีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง ทุกครั้งที่ทดลองผลจะออกมาเท่ากันจนมั่นใจว่าเป็นความรู้ที่ไม่ผิดพลาด เช่น สสารรับความร้อนขยายตัว ทำกี่ครั้งก็ยังขยายตัว และตราบเท่าที่ยังไม่สามารถพิสูจน์เป็นอื่นได้ความรู้ดังกล่าวก็ถือเป็นความรู้หรือทฤษฎีที่น่าเชื่อถือ จึงมีความเชื่อและศรัทธาในหลักการดังกล่าวเมื่อนำไปปฏิบัติ เช่น การวางรางรถไฟให้ห่างกันหนึ่งเซ็นต์เพื่อป้องกันการขยายตัวของรางซึ่งอาจจะทำให้รางโก่งขึ้นจนทำให้รถไฟตกราง แต่ในหลายเรื่องความรู้ที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่เป็นที่ยุติ เป็นแต่เพียงเอาจำนวนมากขึ้นและสรุปว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ และภายหลังต่อมาการทดลองอาจจะมีผลเป็นอย่างอื่น ทำให้เกิดการท้าทายทฤษฎีที่มีแต่เดิม ทำให้ความเชื่อที่มีดั้งเดิมถูกสั่นคลอน เกิดความไม่แน่ใจซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติโดยมีคำถามว่า
ก) สิ่งที่ทำมาในอดีตอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล หรือความรู้ หรือทฤษฎีที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่
ข) ควรจะปฏิบัติตามทฤษฎีดังกล่าวต่อไป หรือยุติ หรือไปปฏิบัติเป็นรูปแบบอื่น
อย่างไรก็ตาม ที่ปฏิบัติมาบนความรู้ดั้งเดิมนั้นอาจนำไปสู่ความเสียหายแล้วและหมดหนทางที่จะแก้ไขได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้ ข้อมูล ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อจึงต้องมีการถ่วงดุลเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติ แต่บางครั้งก็ไม่มีโอกาสได้เลือกที่จะปฏิบัติเพราะมีการปฏิบัติโดยรูปแบบดังกล่าวมาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมาแก้ไขภายหลังความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้วในระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ของชาวตะวันตก มีการกล่าวอ้างว่า ไข่แดง กะทิ น้ำมันหมู ฯลฯ จะนำไปสู่ผลเสียต่อร่างกายในแง่สุขภาพ เช่น โคเลสเตอรอล ไขมันในเส้นเลือด ส่งผลร้ายต่ออวัยวะภายในร่างกาย มีการปฏิบัติโดยไม่กินไข่แดงเป็นเวลาสิบๆ ปีสำหรับบางคนบางกลุ่ม และงดกะทิ รวมทั้งน้ำมันหมูโดยใช้น้ำมันพืชแทน ตอนหลังมีการวิจัยค้นพบว่าไข่แดงมีประโยชน์ต่อร่างกาย ต่อการทำงานของสมอง ป้องกันความจำเสื่อม กะทิมีประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นมีคุณภาพใกล้เคียงน้ำมันมะกอก น้ำมันหมูมีโคเลสเตอรอลที่ดี และมีบางคนบางกลุ่มงดอาหาร 3 ประการดังกล่าวมาเป็นเวลา 20 ปี โดยรับประทานอย่างอื่นแทน ซึ่งก็ไม่สามารถว่าจะเสียหายอะไรบ้าง แต่ถ้ามิได้มีผลร้ายตามที่กล่าวอย่างน้อยก็เป็นการตัดสารอาหารที่ร่างกายต้องการมาเป็นสิบๆ ปี คำถามก็คือ การปักใจเชื่อในความรู้และข้อมูลและส่งผลถึงพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ และผู้เผยแพร่ข้อมูลความรู้ดังกล่าวถ้าไม่มั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักวิชาชีพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตสินค้าเช่นน้ำมันพืช กระทำผิดหลักจริยธรรมหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลที่ยังไม่มีการพิสูจน์จนมั่นใจไปสู่สาธารณชน
ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งคือ การรักษาคนไข้โดยแพทย์แผนตะวันตก โดยมองข้ามการรักษาด้วยวิธีโบราณและสมุนไพรโดยสิ้นเชิงเนื่องจากเป็นของล้าสมัย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีบางส่วนของการรักษาแบบตะวันออกด้วยยาสมุนไพร ด้วยการฝังเข็ม ฯลฯ สามารถรักษาโรคบางอย่างได้ผล จึงปรากฏมีคนเอเชียที่มีอายุยืนและมีร่างกายแข็งแรงโดยอาศัยยาสมุนไพรและการรักษาแบบดั้งเดิม แต่แพทย์สมัยใหม่จะมองข้ามสิ่งเหล่านี้และไม่สามารถจะรับทฤษฎีของแพทย์แผนโบราณได้ไม่ว่ากรณีใดๆ จนมาปัจจุบันจึงเริ่มมีการยอมรับแพทย์แผนทางเลือก หรือในบางกรณีก็ใช้ผสมผสานกันทั้งสองวิธี จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การหายป่วยของคนไข้ การมีสุขภาพที่แข็งแรง และนี่คือการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในวงการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจ็บป่วยที่รักษาไม่ได้จากแพทย์สมัยใหม่เช่นมะเร็ง ซึ่งก็ยังไม่สามารถหาวิธีให้หายขาดแม้จะมีการวิจัยอย่างมากมายก็ตาม จุดอ่อนของการรักษาสมุนไพรในวิธีแบบตะวันออกก็คือ มีการทดลองและได้ผลโดยดูจากผล แต่ไม่ทราบเหตุว่าเกิดจากอะไร และไม่คงเส้นคงวา บางรายก็ดีหายขาด บางรายก็ไม่หาย จนเกิดคำพูดที่ว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” ความน่าเชื่อถือจึงน้อยกว่าตะวันตกทั้งๆ ที่แพทย์แผนตะวันตกก็รักษาไม่ได้หลายโรค เช่น โรคเอดส์ มะเร็ง เป็นต้น และเนื่องจากมีความชะงักของการรักษา โรคติดเชื้อ การผ่าตัด การใช้ยาปฏิชีวนะ ฯลฯ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากกว่าแพทย์แผนตะวันออก ทั้งๆ ที่ในบางกรณีกระบวนการของการรักษาอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงเท่าๆ หรือมากกว่าโรคที่กำลังมีอยู่ในร่างกาย สิ่งที่ฆ่าเนื้อร้ายของมะเร็งซึ่งมักจะได้ผลชั่วคราวกลับมีผลข้างเคียงทำร้ายร่างกายให้อ่อนแอ หรือถูกกระทำในทางลบอย่างรุนแรงจนมีผลเสียต่อส่วนอื่นๆ ของอวัยวะ และนี่คือปัญหาของการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างรุนแรง การรักษาโรคหนึ่งหายไป แต่เมื่ออาการนั้นดีขึ้นผลข้างเคียงที่เกิดจากยาก็เกิดอีกอาการหนึ่ง จนต้องหายามารักษาอาการของผลข้างเคียง ต่อกันเป็นลูกโซ่ เช่น คนที่ป่วยเป็นโรคทางจิตต้องใช้ยาคุมเคมีในสมองให้ได้ดุล ผลที่เกิดขึ้นคือ การแข็งของกล้ามเนื้อ ตัวแข็งเกร็ง ถึงแม้อาการที่ผิดปกติจะน้อยลงแต่ต้องมีการกินยาเพื่อแก้อาการแข็งเกร็งของร่างกาย และผลข้างเคียงของตัวยานั้นอาจจะนำไปสู่การเจ็บป่วยของส่วนอื่นซึ่งอาจจะปล่อยเลยตามเลย หรืออาจต้องกินยาอีกตัวหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาผลข้างเคียง จนถึงที่มีจุดข้างเคียงน้อยที่สุดและยอมทนต่อผลข้างเคียงนั้น การแก้ปัญหาเยี่ยงนี้นำไปสู่การเกิดปัญหาและการแก้ปัญหา จึงเกิดคำถามว่าเป็นการรักษาที่ถูกต้องหรือไม่ หรือควรรักษาโดยให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการบำรุงทั้งอาหาร การออกกำลังกาย จิตใจ และยาบางอย่างที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย เพื่อจะขับไล่โรคออกจากร่างกายด้วยวิธีทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แทนที่จะใช้ยาทำร้ายโรคที่มารบกวนร่างกายจนมีผลกระทบต่อร่างกายจากผลข้างเคียง ข้อสำคัญคือ ความเข้าใจว่าร่างกายเป็นองค์รวม การเจ็บป่วยที่หนึ่งจะส่งผลต่อระบบทั้งหมด การรักษาที่ดีคือการทำให้ร่างกายสามารถแข็งแรงพอที่จะรักษาตนเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มของชีวภาพอยู่แล้ว และที่สำคัญ มีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างร่างกายและจิตใจ จิตใจที่ไม่มีแรงฮึดสู้กับโรค จิตใจที่หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ย่อมไม่ส่งสารการต่อสู้โรคอันเป็นธรรมชาติของชีวภาพทั้งหลาย เมื่อใดที่ใจฝ่อเมื่อนั่นร่างกายก็ย่อท้อ จิตใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อก็จะลดน้อยถอยลง การมองการใช้แส้หางวัวโดยหมอผี การมองการร่ายรำแบบปอบผีฟ้า อาจต้องมองแง่มุมทางจิตวิทยาคือกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิต
ความรู้ ข้อมูลและความเชื่อทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนั้น จะต้องตระหนักถึงหน้าที่ของแต่ละส่วน และมองในแง่บวกมากกว่าดูถูกดูแคลน จุดสำคัญที่จะต้องยึดถือคือ มัชฌิมาปฏิปทาของศาสนาพุทธ การมองบวกเกินไปหรือลบเกินไปจะทำให้การมองภาพผิด วิเคราะห์กรณีผิด ไม่ว่าการรักษาแบบสมัยใหม่หรือทางเลือก การรับประทานอาหารบางอย่างแต่เพียงอย่างเดียวย่อมส่งผลเสีย คนจีนจึงเชื่อว่าอาหารกินได้ทุกอย่าง แต่กินให้ได้ดุล ไม่กินส่วนใดส่วนหนึ่งจนมากกว่าเหตุ ก็จะเกิดผลดีต่อร่างกาย
สิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่สามารถเข้าใจได้อย่างเต็มที่ก็คือ หลังจากอำลาโลกไปแล้วตามสังขารที่เป็นอนิจจัง มนุษย์จะไปที่ใด หลักวิทยาศาสตร์ก็คือเป็นการสลายของชีวภาพตามธรรมดาของสรรพสิ่ง แต่ก็อยากมีความเชื่อและศรัทธาว่าแม้ร่างกายจะผุพังไป จะมีสิ่งที่เหลืออยู่จะเรียกอะไรก็ตามที ซึ่งอาจจะไปหาสิ่งที่เหนือกว่านั่นคือพระผู้เป็นเจ้า หรือกลับมาเกิดใหม่ตามบุญกรรมที่ทำไว้ เมื่อความรู้ความเข้าใจและข้อมูลไม่สามารถพิสูจน์ได้เต็มเปี่ยมก็ต้องใช้ความเชื่อและศรัทธา ความเชื่อและศรัทธาดังกล่าวไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจึงมีสิทธิที่จะมีความเชื่อตามภูมิปัญญาของแต่ละคน ตราบเท่าที่ทำให้ตนมีความสงบ มีจิตใจสบาย ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม และไม่มีใครมีสิทธิที่จะพูดจาดูถูกดูแคลนให้เป็นอื่นตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม กฎหมาย หรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้ใด พฤติกรรมมนุษย์หรือการปฏิบัติของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับความรู้ ข้อมูลและความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องขวนขวายหาต่อไปจนกว่าจะพบสัจธรรมที่แท้จริง ตราบที่ยังไม่สามารถค้นพบสิ่งที่น่าพึงประสงค์ดังกล่าว ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง
ที่มา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ