ทีมเยาวชนสุดเจ๋งจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามคว้าสามรางวัล
จากการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2
นิสิต นักศึกษาไทยมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้บกพร่องทางการเห็น
กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 30 มีนาคม 2559 – ทีมเม็คคาเอ็มเอสยู (MechaMSU) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามคว้าสามรางวัลใหญ่ ได้แก่รางวัลชนะเลิศ รางวัลพิเศษ Seagate Award และรางวัลพิเศษ User Award จาก “การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2” จัดโดยบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนพิการมากขึ้น ทั้งด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ การเดินทาง การสื่อสาร การศึกษาและสันทนาการ ดังนั้น “การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2” จึงเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยโจทย์การประกวดในปีนี้มุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสนับสนุนการประกวดนวัตกรรมฯ ว่า “ซีเกทสนับสนุนการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการช่วยเหลือสังคมรวมทั้งการวิจัยและพัฒนา ซึ่งนอกจากซีเกทจะสนับสนุนการแข่งขันด้วยงบประมาณ 2.4 ล้านบาทแล้ว ทีมวิศวกรของซีเกทเองยังได้มีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์และกติกาการแข่งขัน รวมถึงยังได้ร่วมเป็นทีมงานจัดและคณะกรรมการตัดสินการแข่งขันอีกด้วย”
“นอกจากนี้ เรายังซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ซีเกทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีนวัตกรรมที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต้นแบบสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นต่อไป” นางสาวศิริรัตน์กล่าวเสริม
กิจกรรมการแข่งขันเป็นการจำลองสถานการณ์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้บกพร่องทางการเห็น ประกอบด้วย 4 สถานี ได้แก่สถานีหยิบวัตถุที่หล่นพื้น สถานีหลบหลีกสิ่งกีดขวาง สถานีอ่านป้ายรถโดยสารและสถานีการเลือกสีเสื้อผ้า ในการแข่งขันรอบคัดเลือก มีผู้เข้าแข่งขันจำนวน 21 ทีมจาก 12 สถาบันการศึกษา คัดเหลือ 10 ทีมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 20,000 บาท
ทีมเม็คคาเอ็มเอสยู (MechaMSU) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คว้า 3 รางวัลใหญ่จากการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2 ดังนี้
1. รางวัลชนะเลิศ ซึ่งนอกจากได้รับรางวัลถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพร้อมทุนการศึกษา 150,000 บาทแล้วยังได้รับโอกาสในการเดินทางไปดูงานด้านหุ่นยนต์ที่ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ทางทีมจะปรับปรุงศักยภาพของผลงานนวัตกรรมและเข้าร่วมการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการครั้งที่ 10 (10th International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology – i-CREATe) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้
2. รางวัลพิเศษ Seagate Award และทุนการศึกษา 60,000 บาท รางวัลนี้มาจากการลงคะแนนของคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นผู้บริหารและวิศวกรของซีเกท หลักเกณฑ์ในการตัดสินคือเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานง่ายทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ มีเทคนิคทางด้านวิศวกรรม มีการดีไซน์และใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่
3. รางวัลพิเศษ User Award และทุนการศึกษา 60,000 บาท ซึ่งมาจากการลงคะแนนของผู้บกพร่องทางการเห็นโดยมีเกณฑ์การตัดสิน เช่น น้ำหนักเบา ความง่ายในการใช้งาน และความแม่นยำในการทำงาน
อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมแม็คคาเอ็มเอสยูคืออาจารย์คเณศ ถุงออด สมาชิกประกอบด้วยนักศึกษา 3 คนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเมคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แก่
1. นายสุชาครีย์ เลวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3
2. นายรวิรุจ บุตโคษา นักศึกษาชั้นปีที่ 2
3. นางสาวนิลาวัลย์ หมีกุละ นักศึกษาชั้นปีที่ 2
นายสุชาครีย์ เลวรรณ์หรือป๊อป หัวหน้าทีมแม็คคาเอ็มเอสยู เล่าว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ทีมสามารถคว้า 3 รางวัลจากการแข่งขันคือ การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานและการแข่งขันในแต่ละสถานี นอกจากนี้ หลักการทำงานของเครื่องมือมีด้วยกัน 2 ส่วนคือระบบเซ็นเซอร์สแกนซึ่งใช้กับสถานีหลบหลีกสิ่งกีดขวาง โดยเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบริเวณหน้าอกจะเป็นตัวระบุว่า ข้างหน้ามีสิ่งกีดขวางหรือไม่ เพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าควรไปในทิศทางใด ส่วนกล้องเว็บแคมจะใช้ในการอ่านสี อ่านข้อความบนรถเมล์และอ่านชนิดวัตถุ โดยกล้องเว็บแคมเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลทั้งสีและตัวอักษร ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าข้อความหรือสีที่อ่านคืออะไร โดยมีการแสดงผลผ่านลำโพงเล็กๆ คอยให้เสียงเป็นภาษาไทยแก่ผู้บกพร่องทางการเห็น
นอกจากนี้ ทีมมหิดล บีเอ็มอี 01 (Mahidol BME 01) จากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับทุนการศึกษา 100,000 บาทในรางวัลรองชนะเลิศ ส่วนทีมไอนอยด์ (iNoid)จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมพร้อมทุนการศึกษา 80,000 บาท
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขอบคุณคณะผู้จัดการประกวดนวัตกรรมฯ โดยกล่าวว่า “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ขอขอบคุณบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ร่วมกันจัดการประกวดนวัตกรรมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บกพร่องทางการเห็น ซึ่งทางมูลนิธิฯจะนำนวัตกรรมที่ผู้เข้าแข่งขันได้สร้างสรรค์ขึ้นไปใช้ต่อยอดเพื่อประโยชน์ของผู้บกพร่องทางการเห็นต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ว่า “เป็นที่น่ายินดีที่การแข่งขันในปีนี้ มีทีมเยาวชนไทยสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 21 ทีมจาก 12 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่านอกจากเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันจะได้รับประสบการณ์จากการลงสนามแข่งขันจริงแล้ว ยังจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับทีมอื่นๆ เพื่อพัฒนาผลงานของพวกเขาให้นำไปใช้งานได้จริงต่อไป”
ในการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะถูกปิดตา ในสถานีการหยิบวัตถุที่หล่นพื้น ซึ่งจำลองสถานการณ์เมื่อของหล่นพื้น ไม่ว่าจะเป็นเงินเหรียญ ธนบัตร หรือของชิ้นเล็กๆ อย่างปากกา สไตลัส โดยผู้แข่งขันต้องระบุได้ว่าเป็นวัตถุอะไรและสามารถหยิบได้อย่างถูกต้อง สถานีการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ผู้แข่งขันจะต้องประดิษฐ์อุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถช่วยให้เดินหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้อย่างปลอดภัย สถานีการอ่านป้ายรถโดยสาร เป็นการจำลองเมื่อผู้บกพร่องทางการเห็นยืนรอรถเมล์ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องผลิตอุปกรณ์ที่สามารถระบุสายรถเมล์และจุดหมายที่ถูกต้อง และสถานีการเลือกสีเสื้อผ้า จะให้ผู้แข่งขันเลือกประเภทและสีเสื้อผ้าตามที่กำหนด
รองศาสตราจารย์ ดร. ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขันและตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า “โจทย์การแข่งขันในปีนี้ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากมีการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ซึ่งผู้บกพร่องทางการเห็นต้องประสบในแต่ละวัน ซึ่งจากผลงานของผู้เข้าแข่งขันในปีนี้ ผมเชื่อว่าเด็กไทยของเรามีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ต่อไปให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บกพร่องทางการเห็นได้อย่างเต็มที่ต่อไปในอนาคต”
ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวกับวิศวกรรมหุ่นยนต์ ท่านสามารถติดต่อทางสมาคมฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.trs.or.th
ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทสร้างพื้นที่เพื่อประสบการณ์ของมวลมนุษยชาติโดยการสร้างนวัตกรรมเพื่อการจัดเก็บ การแชร์และการใช้ข้อมูล ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.seagate.com ติดตาม (follow) ซีเกทได้ทาง Twitter, Facebook, LinkedIn, Spiceworks, YouTube และซับสไครบ์ blog ของเรา
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
พรวดี ปิยะคุณ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม
บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2715-2907, Email: pornvadee.piyakhun@seagate.com