ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รธน.) พ.ศ...หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ ในมาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้ปกครองห่วงใยว่าจะส่งผลให้โครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการอยู่ต้องล้มเลิก ทำให้เด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่ได้รับการอุดหนุนนั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องขอวิเคราะห์ในรายละเอียดก่อน ถึงจะตอบได้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร อย่างไรก็ตามในร่างรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่ารัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัด และให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาด้วย
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในรัฐธรรมนูญร่างแรก รมว.ศึกษาธิการได้ให้องค์กรหลักวิเคราะห์ผลกระทบ และความคิดเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของ สอศ.ได้ให้ความเห็นไปว่าการกำหนดให้รัฐดำเนินการดังกล่าว จะกระทบต่อการจัดการอาชีวศึกษา เนื่องจากเดิมมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี หากรัฐธรรมนูญใหม่กำหนด 12 ปี จะทำให้เด็ก ปวช.ไม่ได้รับการอุดหนุน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เด็ก ปวช.ออกกลางคันเพิ่มมากขึ้น
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 31 มีนาคม 2559