สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดผลสำรวจการอ่านคนไทย พบอัตราการอ่านลดลงเมื่อเทียบปี 56 แต่ใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น ขณะที่คนอ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุด เผยน่าตกใจเด็ก 6-14 ปีจำนวนมากไม่อ่านหนังสือ เพราะอ่านไม่ออก
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) แถลงข่าวผลสำรวจสถิติการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2558 และเสวนาในหัวข้อ "ผลสำรวจการอ่านกับแนวโน้มพฤติกรรมการอ่านของคนไทย" โดย นางปัทมา อมรสิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสถิติสังคม กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของประชากรช่วงนอกเวลาเรียน เวลาทำงาน จากประชากรตัวอย่าง 46,460 ครัวเรือนทั่วประเทศ หรือ 135,165 คน เก็บข้อมูลในเดือน พ.ค.-มิ.ย.58 พบว่า ในกลุ่มประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านลดลงจาก 81.8% ในปี 2556 เป็น 77.7% หรือ 48.4 ล้านคน ในปี 2558 แต่ใช้เวลาในการอ่านเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมปี 2556 อยู่ที่ 37 นาทีต่อวัน ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 6 นาที หรือ 66 นาทีต่อวัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 29 นาที ทั้งนี้เมื่อแยกเป็นช่วงอายุ พบว่า วัยเด็ก อ่านวันละ 71 นาที วัยรุ่น อ่านวันละ 94 นาที วัยทำงาน อ่านวันละ 61 นาที และวัยสูงอายุ อ่านวันละ 44 นาที
“ที่น่าสนใจพบว่า ประเภทของหนังสือที่อ่านมากที่สุดคือ หนังสือพิมพ์ 67.3% รองลงมาคือ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ เอสเอ็มเอส และอีเมล์ 51.6% และพบว่าแม้สื่อสังคมออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ผู้อ่านยังนิยมอ่านหนังสือในรูปหนังสือเล่มมากที่สุด 96.1% รองลงมาคือ อ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ 45.5% และอ่านจากเว็บไซต์ 17.5% สำหรับเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านชอบอ่านมากที่สุดคือ ข่าว สารคดี และความรู้ทั่วไป 48.5%” นางปัทมา กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามมีประชากรวัย 6 ปีขึ้นไป ถึง 22.3% หรือ 13.9 ล้านคน ที่ไม่อ่านหนังสือ โดยสาเหตุที่ไม่อ่านเพราะชอบดูโทรทัศน์มากกว่าถึง 41.9% รองลงมาคือ ไม่ชอบอ่าน หรือไม่มีเวลาอ่าน ประมาณ 24% และอ่านไม่ออก 20.6% แต่เมื่อแยกตามช่วงอายุ พบว่า ในวัยเด็ก อายุ 6-14 ปี สาเหตุที่ไม่อ่าน เพราะชอบดูโทรทัศน์ 36.7% รองลงมาคืออ่านไม่ออก 34.7% วัยเยาวชน อายุ 15-24 ปี และวัยทำงาน อายุ 25-29 ปี สาเหตุที่ไม่อ่าน เพราะชอบดูโทรทัศน์ประมาณ 40.0% และวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่อ่านเพราะสายตาไม่ดี 43.9% ทั้งนี้ยังพบด้วยว่า ความสามารถในการอ่านเขียน และคำนวณของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เดิมอยู่ที่ 91.1% เป็น 91.5% แต่การอ่านออก และเขียนได้ลดลงจากปี 2556 เดิมอยู่ที่ 94.1% เป็น 93.0%
“ข้อมูลการไม่อ่านหนังสือของเด็กวัย 6-14 ปี เป็นข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะมีสาเหตุมาจากการอ่านไม่ออกถึง 34.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่อันตราย เพราะมันสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหา นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรักการอ่านมากขึ้น เพราะหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นรูปเล่ม หรือออนไลน์ ล้วนเป็นแหล่งความรู้ โดยเชื่อว่าหากเริ่มปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่วันนี้ อนาคตของชาติก็จะมีคุณภาพที่ดีขึ้น”นางปัทมา กล่าว
นางปัทมา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมามีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น โดยปี 2558 อยู่ที่ 60.2% หรือ 2.7 ล้านคน นอกจากนี้เวลาที่ใช้ในการอ่านก็เพิ่มขึ้น จากเดิมปี 2556 อยู่ที่ 27 นาทีต่อวัน เป็น 34 นาทีต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 นาทีต่อวัน แต่หากเปรียบเทียบความถี่ของการอ่าน พบว่า ปี 2558 มีเด็กเล็กที่อ่านทุกวันแค่ 17.9% ลดลงจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 26.1% และมีเด็กที่อ่านน้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน 9.7% แต่ในปี 2556 มีแค่ 4.8% สำหรับประเภทสื่อที่เด็กเล็กชอบอ่านมากที่สุดคือ หนังสือเล่มอย่างเดียวถึง 77.6% มีเพียง 1.7% ที่อ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว และมีแนวโน้มว่าผู้ใหญ่จะซื้อหนังสือให้เด็กเล็กลดลง โดยปี 2556 อยู่ที่ 82.6% ขณะที่ปี 2558 อยู่ที่ 78.5% ส่วนเด็กที่ไม่อ่านหนังสือมีอยู่ 39.8% หรือ 1.8 ล้านคน โดยสาเหตุที่ไม่อ่าน เพราะเด็กยังเล็กเกินไป 65.9% อ่านไม่ออก 18.8% ชอบดูโทรทัศน์ 5.8% ไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจ 36% ขณะที่ผู้ใหญ่บางส่วนก็ไม่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เพราะคิดว่าเด็กยังเล็กเกินไป หรือไม่มีเวลาอ่านให้เด็กฟัง ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอย่างมาก
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การส่งเสริมการอ่านที่ได้ผลในเด็กเล็กคือ การอ่านแบบมีความสุข สร้างความรื่นรมย์ให้แก่เด็ก ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา และทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็กเล็ก โดยที่ผ่านมาองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับส่งเสริมการอ่าน ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่ตรงจุด เพราะความจริงแล้วการรณรงค์รักการอ่านจะต้องให้เด็กอ่านอย่างมีความสุข และแยกการอ่านหนังสือเรียนออกไปด้วย.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 มีนาคม 2559