องคมนตรี เชื่อใช้ม.44ขับเคลื่อนปฏิรูปฯ จะช่วยให้การศึกษาดีขึ้น ชี้เป็นหน้าที่ รมว.ศธ. ต้องกำหนดคู่มือ-หน้าที่ให้ผู้ว่าฯ ป้องกันปัญหาผู้ว่าฯเมินเรื่องการศึกษา ยันโลกเปลี่ยนการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนตาม
วันนี้ (30 มี.ค.) ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา และการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในภูมิภาคว่า ตนได้เห็นถึงความพยายามในการประสานการบริหารการศึกษาในส่วนจังหวัดและภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน หากทำได้จะมีประโยชน์มาก เพราะต้องยอมรับว่าทรัพยากรในโรงเรียนต่างๆ มีไม่เท่ากัน บางแห่งมีครูวิทยาศาสตร์ที่เก่ง แต่ขาดครูภาษาไทย บางแห่งมีครูภาษาไทยที่เก่ง แต่ขาดครูวิทย์ หากสามารถเชื่อมโยงกัน เพื่อแบ่งปันทรัพยากรเด็กก็จะได้ประโยชน์ ส่วนที่เกรงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดอาจสนใจงานการศึกษาไม่เท่ากันนั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องวางกลไก คู่มือ และกำหนดหน้าที่ของผู้ว่าฯ ในด้านการศึกษาให้ชัดเจน
ต่อข้อถามถึงสิ่งที่ครูเป็นห่วงว่าจะถูกดึงออกจากห้องเรียนไปทำงานตามคำสั่งของผู้ว่าฯ นั้น ศ.นพ.เกษม กล่าวว่า ตนไม่เป็นห่วงเรื่องผู้ว่าฯ จะใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้องเหมือนในอดีต เพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในโลกยุคดิจิตอลในปัจจุบันเรื่องต่างๆ ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป และเชื่อว่าผู้ว่าฯเข้าใจดีว่าภารกิจใดทำได้ และทำไม่ได้
อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าการปฏิรูปฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการปฏิรูปการศึกษาในครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ผล
เพียงแต่ว่าการปฏิรูปฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้วก็เหมาะสมกับยุคสมัยนั้น พอมาอีก 20 ปีนี้ก็ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่ทันความรู้ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นถ้าจะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกใบนี้ จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ โดยระบบการศึกษาก็ไม่ควรอยู่นิ่งเช่นกันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมนุษย์ออกแบบให้ปรับตัวได้อยู่แล้ว ถ้าไม่ปรับตัวก็จะล้าหลัง แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องอยู่บนประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นหลัก โดยส่วนตัวตนมองโลกในแง่ดี การปฏิรูปฯในครั้งนี้ก็น่าจะดีขึ้น.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 มีนาคม 2559