โดย สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
เรื่องวันหยุดในเดือนเมษายนนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีจำนวนวันหยุดมากที่สุดในรอบปี ซึ่งเหล่าข้าราชการจะใช้ช่วงเวลาช่วงนี้ในการลาพักผ่อนประจำปี หรือที่เรียกกันติดปากว่าลาพักร้อน เพราะปกติเดือนนี้จะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปี อีกทั้งการลาเพียงไม่กี่วันแต่จะได้หยุดจริงติดต่อกันหลายวัน นับว่าคุ้มค่าต่อการลาเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับเดือนเมษายนปีนี้ จำนวนวันหยุดยังคงมีมากที่สุดในรอบปีเหมือนเช่นทุกปี ทั้งวันหยุดที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (หาเรื่องลาหยุดเอง) หากนับเฉพาะวันหยุดอย่างเป็นทางการจะมีวันหยุดทั้งหมดถึง 13 วัน เพราะนอกจากวันหยุดเสาร์และอาทิตย์แล้ว ยังมีวันจักรี (วันพุธที่ 6 เมษายน) และเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งให้หยุดยาวติดต่อกันถึง 3 วัน (วันพุธที่ 13 ถึงวันศุกร์ที่ 15 เมษายน) ดังนั้น หากท่านใดลางานวันที่ 4-5 เมษายน (ลาแค่ 2 วัน) ก็จะได้หยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน (วันที่ 2-6 เมษายน) เช่นเดียวกับท่านที่ลางานวันที่ 7-8 เมษายน (ลาแค่ 2 วัน) ก็จะได้หยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน (วันที่ 6-10 เมษายน) เช่นกัน และโดยไม่ต้องลาก็ได้หยุดยาวถึง 5 วันเช่นกันในช่วงสงกรานต์ (13-17 เมษายน) แต่ถ้าอยากหยุดงานยาวกว่านั้น ต้องลาหยุดวันที่ 11-12 เพราะลาแค่ 2 วัน แต่จะได้หยุดติดต่อกันถึง 9 วันเต็มๆ (วันที่ 9-17 เมษายน) หรือถ้ามาลาวันที่ 18-19 เมษายน ก็ยังได้หยุดติดต่อกันยาวถึง 7 วัน (13-19 เมษายน) ทีเดียว
นอกจากวันหยุดอย่างเป็นทางการดังกล่าวแล้ว คนทำงานที่มีเชื้อสายจีนยังมักจะต้องลาหยุดแน่ๆ ในช่วงต้นเดือนเมษายนอีกเนื่องในวันเช็งเม้ง (ปีนี้คงจะลากันวันที่ 4-5 เมษายน) เพื่อไปกราบไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วตามประเพณีจีน ซึ่งดูเหมือนจะเคร่งครัดกว่าวันครอบครัวของไทยด้วยซ้ำ ส่วนคนวัยหนุ่มที่ยังศึกษาอยู่ก็มักจะต้องไปฝึกงานหรือทำสหกิจศึกษา หรือลาไปฝึกทบทวนวิชารักษาดินแดน (รด.) หรือไปเข้ารับการเกณฑ์ทหารอีกด้วย
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าเดือนเมษายนเป็นเดือนที่เหมาะต่อการลางานเป็นอย่างยิ่ง และเรื่องทำนองนี้ไม่ต้องชี้ไม่ต้องแนะ เพราะคนทำงานเขาทราบดีกันอยู่แล้ว และเตรียมการ (ลางาน) กันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ดังนั้น ผู้บังคับบัญชา หัวหน้างาน หรือเจ้าของกิจการจึงต้องทำใจต่อผลผลิตหรือผลงานในรอบเดือนเมษายน เพราะจะคาดหวังอะไรมากนักไม่ได้ เว้นแต่กิจการที่สามารถดำเนินการได้เองตามระบบที่วางไว้เป็นอย่างดี ส่วนกิจการที่ต้องใช้กำลังคนนั้นลืมไปได้เลย เพราะเวลาทำงานจริงในเดือนนี้ของแทบทุกคน (โดยเฉพาะข้าราชการ) มีไม่ถึงครึ่งเดือน (15 วัน) อย่างที่เห็นๆ กันอยู่
โดยปกติ มหาวิทยาลัยจะไม่มีการเรียนการสอนในเดือนเมษายน แต่จะเปิดสอนภาคพิเศษที่เรียกกันว่า "ภาคฤดูร้อน" ให้กับนักศึกษาที่มีปัญหาเรื่องผลการเรียน (ติด F) หรือเรียนไม่ทันตามโปรแกรมปกติ ซึ่งนักศึกษาปกติจะไม่ค่อยมาลงทะเบียนเรียนด้วย เพราะบรรยากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยมากทั้งอาจารย์และนักศึกษาจะไปพักผ่อนเป็นหมู่คณะกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง (เพราะต่างมีวันหยุดยาวตรงกัน) หรือทำกิจกรรมอื่นๆเช่น การออกค่ายอาสา การฝึกงาน การฝึกซ้อมทักษะต่างๆ ที่ได้เรียนมา หรือเตรียมงานรับน้องใหม่ เป็นต้น
นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เดือนเมษายนของปีที่ผ่านมาและเดือนเมษายนของปีนี้ บรรดานักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่อาจกระทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามเคย โดยเฉพาะกิจกรรมด้านวัฒนธรรมประเพณีของไทย (ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย) เพราะถูกบังคับอย่างไม่มีทางเลี่ยงให้ต้องมานั่งเรียนเทอมที่สองในช่วงเดือนเมษายน เดือนเมษายนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทอม (ภาคการศึกษา) ที่สองเพราะการเปิดปิดเทอมตามอาเซียน (ดังที่กล่าวอ้างกันในตอนแรก) นั่นเอง
เรื่องปัญหาการมีวันหยุดมากและหยุดยาวติดต่อกันในเดือนเมษายนนี้ แม้ไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่สุดของการเปิดปิดเทอมของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนี้สร้างความเสียหายต่อคุณภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอย่างมาก ซึ่งทั้งอาจารย์และนักศึกษาทราบดี ดังผลการสำรวจความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ กรณีของนักศึกษาไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 60.9 ขณะที่อาจารย์ไม่เห็นด้วยสูงถึงร้อยละ 73.2 โดยไม่มีผู้เกี่ยวข้องกลุ่มไหนเห็นด้วยมากถึงร้อยละ 40 เลย และส่วนใหญ่ยังต้องการให้มหาวิทยาลัยไทยกลับมาเปิดปิดเทอมอย่างเดิมโดยเร็ว (นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2559)
ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ต่างพร้อมจะเปลี่ยนกลับไปเปิดปิดเทอมตามแบบเดิมอยู่แล้ว แต่ยังติดขัดเรื่องผลการคัดเลือกนักศึกษาในระบบแอดมิสชั่น (Admission) เพียงเรื่องเดียว ที่ช่วงเวลาที่กำหนดใหม่กลายเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนกลับไปเปิดปิดเทอมตามแบบเดิมของมหาวิทยาลัย หากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ไม่เข้ามาดูแลแก้ไขให้กลับไปสู่ช่วงเวลาเดิมหรือจัดช่วงเวลาใหม่ที่เหมาะสม กกอ.นี่แหละที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับเปลี่ยนการเปิดปิดเทอมของมหาวิทยาลัย ดังนั้น กกอ.ต้องเร่งปรับแก้เรื่องนี้ให้เหมาะสม ต้องไม่ให้ใครพูดได้ว่า กกอ.เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยไทย เลขาธิการ กกอ.จะอยู่เฉยอีกต่อไปไม่ได้แล้ว
สำหรับมหาวิทยาลัยที่ยังไม่อยากปรับเปลี่ยนกลับไปแบบเดิมเพราะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้น้อย หรือจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่ถึงกระนั้น อธิการบดีก็ควรลดอัตตาลง และควรต้องหันไปพิจารณาผลเสียต่อสังคมและประเทศชาติในด้านอื่นๆ บ้าง โดยเฉพาะผลเสียที่มีต่อสังคมและประเทศชาติในระยะยาว เช่น เรื่องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน (ขณะที่นโยบายภาครัฐต้องการให้ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงในช่วงเวลานี้) และการใช้น้ำในปริมาณที่มากขึ้นในช่วงฤดูแล้ง (ขณะที่ทุกภาคส่วนต้องการความร่วมมือให้ช่วยกันประหยัดน้ำในช่วงนี้) เป็นต้น หากมหาวิทยาลัยใดละเลยไม่สนใจให้ความร่วมมือ ก็เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ กำลังสร้างปัญหาสร้างภาระให้แก่สังคมและประเทศชาติในเรื่องเหล่านี้ มหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งภูมิปัญญาของชาติ จึงต้องร่วมแก้ไขปัญหาของชาติ และต้องช่วยชี้นำสังคมให้เดินหน้าไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่มาเป็นภาระ มาเป็นปัญหาของสังคมและประเทศชาติเสียเอง
ถึงตรงนี้ ชาวอุดมศึกษาส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่า ปีนี้ (2559) จะเป็นปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีการเรียนการสอนในเดือนเมษายน (และพฤษภาคม) ทั้งนี้ จะได้ไม่ต้องมาเสียสุขภาพจิตคร่ำเคร่งทำงาน (การเรียนการสอนที่ไร้คุณภาพ) ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยอีกต่อไป และเมษายนปีหน้า (2560) จะได้ลาพักผ่อนประจำปีโดยไม่ต้องกังวลถึงภาระหน้าที่โดยไม่จำเป็นอีก เพราะจะได้ไปพักผ่อนหรือพักร้อนกันจริงๆ เสียที
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 29 มีนาคม 2559