เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับที่ 10-11/2559 ในการขับเคลื่อนการบริหารราชการของ ศธ.ในภูมิภาคนั้น จากนี้จะมีการจัดวางระบบต่างๆ ใหม่ ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของ ศธ. และในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีผู้บริหารระดับ 11 ของ ศธ. เกษียณอายุราชการ 2 คน คือ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. และ น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดม ศึกษา (กกอ.) ตนกำลังเล็งว่าใครเหมาะสมเข้ามารับหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะตำแหน่งปลัด ศธ. ซึ่งต้องวัดกันที่ฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรม และอาวุโส โดยจะมีการจัดวางเก้าอี้ระดับ 11 กันใหม่ ดูกันเป็นทอดๆ เช่นเดียวกับที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ดูตน อยู่เหมือนกัน แต่ยืนยันว่าเมษายนนี้จะยังไม่มี นอกจากจะมีโผล่มาแบบพิสดาร
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน เมษายนนี้ ให้แก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ในมาตราที่กำหนดอายุเกษียณราชการ โดยจะเสนอเพิ่มอายุการ เกษียณราชการเป็น 65 ปี จากเดิม 60 ปี ว่า ตนคงพูดไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ในการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ ซึ่งในส่วนของข้าราชการครู ก็คงไม่ใช่ว่าเห็นด้วยให้เพิ่มอายุการเกษียณราชการทุกกลุ่ม อาจจะต้องดูเท่าที่จำเป็น
นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัด ศธ. ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า ตามที่ ศธ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นรวมถึงข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับคำสั่ง คสช.นั้น เท่าที่เปิดรับฟังผ่านเว็บไซต์ www.moe.go.th และสายด่วน 1579 ของ ศธ. พบว่ามีทั้งเสียงต่อต้านและสนับสนุน แต่ส่วนใหญ่ยังค่อนข้างเป็นกลางเหมือนกำลังรอดูท่าที ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความกังวลว่าคนที่เคยเล่นการเมืองครู หรือคนที่เคยมีประวัติไม่โปร่งใสและเคยมีปัญหาในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งถูกยุบเลิกไปแล้วตามคำสั่งหัวหน้า คสช.จะกลับเข้ามามีบทบาทในกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) อีก เป็นต้น
"ประเด็นและข้อกังวลต่างๆ ที่มีการเสนอ เข้ามา ศธ.จะรับฟังและรวบรวมเพื่อประมวลเสนอต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ โดยในวันที่ 4 เมษายน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ในการบริหารของ กศจ.ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ระหว่างนี้ ศธ.ได้เตรียมมอบหมายภารกิจเร่งด่วนให้ กศจ.ไปดำเนินการ คือการเก็บข้อมูลพื้นฐานที่เป็นข้อมูลเชิงลึกของโรงเรียนทั้งจังหวัดว่ามีโรงเรียนประเภทใดบ้าง แต่ละโรงเรียนมีจำนวนนักเรียน ครู และบุคลากรทั้งหมดจำนวนเท่าไร สถานะของโรงเรียนเป็นอย่างไร ผลการเรียนของเด็ก การศึกษาต่อ การมีงานทำ เป็นต้น เพื่อนำมาใช้วางแผนการจัดการศึกษาของประเทศ ให้การศึกษาของชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และมีเอกภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ ศธ.ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป ทั้งทางเว็บไซต์ สายด่วน ศธ.และล่าสุดได้เปิดหน้าเพจเฟซบุ๊ก : การบริหารงานบุคคลและการขับเคลื่อนการทำงานของ ศธ.ตามคำสั่ง คสช. เพื่อรับฟังความเห็นอีกช่องทางหนึ่งด้วย" นายชัยยศกล่าว
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงกรณีที่ ก.พ.เตรียมเสนอ ครม.ให้แก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อยืดอายุการเกษียณราชการออกไปเป็น 65 ปีว่า ข้าราชการทุกประเภทที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ถือว่าอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ดังนั้นต้องดูสาระที่ ก.พ.จะเสนอ ครม.แก้ไขว่าจะเสนอให้ข้าราชการกลุ่มใดบ้างขยายเกษียณอายุราชการออกไปเป็น 65 ปี ถ้าเสนอให้ครอบคลุมข้าราชการทุกกลุ่ม รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงด้วย ก็จะส่งผลให้ผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. อาทิ นพ.กำจร ที่จะเกษียณในปีนี้ ยืดเกษียณอายุราชการ ออกไปเป็น 65 ปีด้วย
เมื่อถามว่า การยืดอายุราชการให้กับ ข้าราชการทุกกลุ่ม จะได้ไม่คุ้มเสียกับข้าราชการกลุ่มที่ทำงานเช้าชามเย็นชามหรือไม่ นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า ระบบราชการโดยปกติ มีการประเมินปีละ 2 ครั้งอยู่แล้ว แต่ถ้าขยายอายุเกษียณราชการออกไป 65 ปี ตนมองว่าระบบประเมินควรต้องเข้มข้นมากขึ้น โดยหลักการของนโยบายนี้ดี เพราะปัจจุบันคนอายุยาวขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่น้อยลง จึงไม่เพียงพอต่อการทำงาน ดังนั้นข้อดีของนโยบายนี้คือ จะได้คนที่มีประสบการณ์มาทำงานต่อ ขณะที่รัฐจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย และเป็นความสมัครใจ ไม่ได้บังคับว่าทุกคนจะต้องทำงานถึงอายุ 65 ปี ถ้าต้องการเกษียณก่อน 65 ปี ก็ทำได้ ซึ่งจะได้รับเงินบำเหน็จ (เงินก้อน) กรณีทำงานมาแล้วไม่ถึง 25 ปี และสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ ถ้าทำงานมาแล้วมากกว่า 25 ปี
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 31 มี.ค. 2559 (กรอบบ่าย)