ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ เห็นชอบในหลักการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ ให้ดำเนินโครงการฯ ในช่วง 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) ก่อน ส่วนการดำเนินการในระยะต่อไป (พ.ศ.2562-2572) ให้นำไปบรรจุในแผนปฏิรูปประเทศไทย
สำหรับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นการนำร่องการผลิตครูระบบจำกัดรับ (ระบบปิด) ในสาขาวิชาและพื้นที่ที่เป็นความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครู ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) โดยดึงดูดคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครู ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมที่เข้มข้น และเมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นครูที่มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพและมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู แล้วบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและลดปัญหาเรื่องการโยกย้าย
โดยในระยะเริ่มแรกมีเป้าหมายการดำเนินงานปีละไม่มาก เพื่อให้สถาบันผลิตครูมีการปรับลดการผลิต และปรับบทบาทเป็นการพัฒนาครูประจำการในพื้นที่ แต่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อให้มีการผลิตครูที่มีคุณภาพจำนวนมากพอที่ส่งกระทบต่อคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพของการศึกษาไทย
ทั้งนี้ จะมีการคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพเป็นสถาบันผลิตครูในโครงการฯ โดยคำนึงถึงพื้นที่เป็นหลัก (Area Based) โดยพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูมาก (พื้นที่ชายขอบจังหวัด พื้นที่ในเขตเฉพาะกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ) และมีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ที่มีภูมิลำเนาตรงกับพื้นที่พิเศษและผ่านการเข้าร่วมโครงการในอัตราร้อยละ 5 ของเป้าหมายการคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ตั้งแต่รุ่นปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป
คาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการตามเป้าหมาย (พ.ศ.2559-2572) จะผลิตครูได้ตามเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 48,374 คน แยกเป็นกลุ่มคนดีคนเก่งที่เข้ามาเรียนเพื่อบรรจุในภูมิลำเนาของตนเอง 47,294 คน และกลุ่มในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครูมาก และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุในภูมิลำเนาของตนเอง 1,050 คน หรือประมาณร้อยละ 5 ของเป้าหมายทั้งหมด
ข้อมูลที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในครั้งนี้
สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดโครงการที่ใช้ในการดำเนินงานจนถึงปี พ.ศ.2572 ได้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 4,600 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าทุนการศึกษา ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าหอพัก ค่าหนังสือวัสดุอุปกรณ์การเรียน ส่วนงบอื่นๆ เช่น งบพัฒนาศักยภาพและทักษะความเป็นครู จะเป็นค่าใช้จ่ายของสถาบันผลิตครูทั้ง 98 แห่งในประเทศ โดยเหมาจ่ายให้ประมาณ 10,000 บาท/คน/ปี
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 29 มีนาคม 2559