โดย ทีมการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
แวดวงการศึกษาสั่นสะเทือน !!!
ทันทีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ใจความสำคัญคือ การให้มี “คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อกำหนดทิศทางวางแผนงานการบริหารงานบุคคลในภูมิภาค และจัดสรรงบประมาณ
ตามด้วยคำสั่งที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ที่มี “ศึกษาธิการภาค” ขึ้นตรงต่อ รมว.ศึกษาธิการ และมีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค พร้อม “ศึกษาธิการจังหวัด” และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติภารกิจการบริหารและจัดการศึกษา โดยมี “คณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด” เรียกย่อๆว่า “กศจ.” มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
ดูเผินๆเหมือนจะเป็นการปรับโครงสร้างการบริหารราชการในภูมิภาค ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดโต๊ะแถลงถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่า
“โครงสร้างเดิมแม้งานจะเดินหน้าไปได้แต่ไม่ทันเวลาของรัฐบาลที่เหลืออยู่ 1 ปี 6 เดือน จึงต้องปรับโครงสร้างในภูมิภาคที่มีปัญหาการบริหารงาน เพื่อบูรณาการการทำงานในระดับเขตพื้นที่ฯให้มีความเชื่อมโยง มีสายงานการบังคับบัญชาที่กว้างขึ้น เป็นเอกภาพและเกิดความคล่องตัว”
แต่หากกางคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ จะพบว่าประเด็นอยู่ที่การยุบเลิก คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา โดยให้โอนอำนาจหน้าที่ไปเป็นของ กศจ. ซึ่งนับจากนี้ต่อไปอำนาจการบริหารงานบุคคล ทั้งแต่งตั้ง โยกย้าย พิจารณาความดีความชอบและลงโทษทางวินัยตกอยู่ในมือ กศจ.แทน
และนั่นถือเป็นการ “ล้างบางขั้วอำนาจเก่า” ที่ทรงอิทธิพลในเขตพื้นที่การศึกษา ที่มักมีข้อครหาถึงการแต่งตั้งโยกย้ายในบางเขตที่ไม่เป็นธรรม เรียกรับผลประโยชน์ถึงขั้น “คิดเงินเป็นกิโลเมตร” ซึ่งการสลายขั้วอำนาจเก่านี้ไม่ใช่เพิ่งคิดกัน แต่เป็นความพยายามมาตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจ ทั้งสมัยที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย นั่งเก้าอี้เสมา 1 เคยพยายามทำแล้ว แต่ไม่ทันสำเร็จก็ถูกย้ายไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี
ยิ่งเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปกว่านั้น จะเห็นว่า คสช.ได้ให้อำนาจ รมว.ศึกษาธิการ ในการแต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือแม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงานตำแหน่งต่างๆ ในภูมิภาคหรือจังหวัด ตามประเภทหรือระดับตำแหน่งที่ รมว.ศึกษาธิการ กำหนด
พร้อมกับสั่งให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาหรือแม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงานตำแหน่งต่างๆ ในภูมิภาคหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่อาจได้รับเงินค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ
การ มอบมาตรา 44 ย่อมเท่ากับมอบดาบอาญาสิทธิ์ ไว้ในอุ้งมือของ “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตน-สุวรรณ ซึ่งแม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าการแต่งตั้งโยกย้ายจะให้เป็นไปตามขั้นตอนเดิม ทั้งจะใช้อำนาจดังกล่าวเท่าที่จำเป็นก็ตาม แต่เมื่อดูคำสั่งทั้ง 2 ฉบับแล้ว มีการระบุไว้ชัดเจนว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของ รมว.ศึกษาธิการ”
ที่สำคัญเรามองว่าการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ เป็นการลง “เสาเข็ม” การบริหารในรูปแบบ “ซิงเกิลคอมมานด์” ก่อนนำไปสู่การปรับโครงสร้างใหญ่ ด้วยการยุบ 5 แท่งเหลือเพียงแท่งเดียว เพื่อจะได้ “คุมเบ็ดเสร็จ” ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เคยลั่นวาจาไว้ พร้อมยังยอมรับด้วยว่ามีความเป็น ไปได้ที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างใหญ่
และอาจจำเป็นจะต้องใช้มาตรา 44 อีก
“ถอยหลังเข้า คลอง” และ “ดึงอำนาจคืนสู่ส่วนกลาง” ???
คือข้อกังขาของสังคม ซึ่ง “บิ๊กหนุ่ย” แอ่นอกรับแบบชายชาติทหารว่า “โครงสร้างใหม่นี้เมื่อมองดูแล้วเหมือนย้อนกลับไปใช้ของเดิม แต่หากเดินไปข้างหน้าแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่แย่ลง ทำไมเราไม่ถอยกลับมาดูว่าของเดิมดีอย่างไร โครงสร้างใหม่นี้ไม่ได้ทิ้งการกระจายอำนาจ เพราะมีทั้งผู้ว่าฯและกรรมการที่ครบทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม”
“ทีมการศึกษา” คงไม่สามารถชี้ถูก ชี้ผิด การปรับโครงสร้างนี้ตั้งแต่มวยยังไม่ทันจะเริ่มชก แต่เราขอสะท้อนข้อห่วงใยจากผู้คนในแวดวงการศึกษา ที่ตั้งข้อสังเกตว่าการปรับเปลี่ยนนี้จะสามารถแก้ปัญหาการศึกษาไทยที่ถูกมองว่าด้อยคุณภาพได้จริงหรือไม่ ???
เพราะแม้จะเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของ “พ่อเมือง” ที่นั่งหัวโต๊ะเป็น ประธานกศจ. แต่ด้วยภาระงานที่ล้นมือไม่แน่ใจว่าจะมีเวลาทุ่มเทให้กับการศึกษาแบบเต็มร้อย
และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การได้มาของบอร์ด กศจ. โดยเฉพาะผู้แทนครูในท้องถิ่น ผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ มีความน่าเชื่อถือเพียงใดว่าบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีวิ่งเต้น เส้นสาย หรือเด็กฝาก ซึ่งนั่นหมายถึงแทนที่จะเป็นการล้างบาง อาจกลายเป็นการสร้าง “ขั้วอำนาจใหม่” เข้ามาแทนที่
ไหนๆ ก็ลงทุนใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปรับโครงสร้างการบริหารงาน ศธ.ในภูมิภาคแล้ว สิ่งที่สังคมไทยตั้งตารอคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะสามารถเป็น “ตัวช่วย” ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผลอย่างจริงจังอย่างที่ตั้งใจไว้ได้เสียที
เพราะการปฏิรูปการศึกษาของเด็กไทย เสียเวลามามากเกินพอแล้ว!!!
-ทีมการศึกษา-
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 29 มีนาคม 2559