สทศ.ประกาศผลสอบโอเน็ต ป.6-ม.3 แล้ว ภาพรวมคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเกือบทุกวิชา แม้ยังไม่ผ่านครึ่ง ขณะที่นักวิชาการจุฬาฯ ชี้เหตุมาจากข้อสอบยาก-ยากมาก ไม่มีการนำผลไปใช้ ทำให้เด็กไม่ตั้งใจสอบ
วันนี้ (28 มี.ค.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ. ได้กำหนดประกาศผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ปีการศึกษา 2558 ของนักเรียนชั้น ป.6 วันที่ 28 มี.ค.2559 และชั้น ม.3 วันที่ 29 มี.ค.2559 นั้น ปรากฏว่า สทศ. สามารถประมวลผลการสอบเสร็จก่อนกำหนด จึงได้ประกาศผลสอบโอเน็ตชั้น ป.6 ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. และชั้น ม.3 ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. โดยนักเรียนสามารถดูผลสอบเป็นรายบุคคล และโรงเรียนสามารถดูคะแนนสอบรายโรงเรียนได้ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th ส่วนโรงเรียนที่ต้องการตรวจสอบผลคะแนนสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 สำหรับคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับชั้น ม.1 และ ม.4 สามารถตรวจสอบผ่านทางระบบ RPS ทางเว็บไซต์ สทศ.ได้
ผอ.สทศ. กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานของการสอบโอเน็ต ป.6 พบว่า วิชาภาษาไทย มีผู้เข้าสอบ 716,771 คน คะแนนเฉลี่ย 49.33 คะแนน สูงสุด 100 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน สังคมศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม เข้าสอบ 716,784 คน เฉลี่ย 49.18 คะแนน สูงสุด 98 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 716,780 คน เฉลี่ย 40.31 คะแนน สูงสุด 100 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 716,684 คน เฉลี่ย 43.47 คะแนน สูงสุด 100 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน วิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 716,778 คน เฉลี่ย 42.59 คะแนน สูงสุด 100 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน ทั้งนี้ในภาพรวมผลการทดสอบมีค่าคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาสูงกว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยของปีการศึกษา 2557 ยกเว้นวิชาสังคมศึกษาฯ ที่ค่าคะแนนเฉลี่ยในปีนี้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานของการสอบโอเน็ต ม.3 พบว่า วิชาภาษาไทย มีผู้เข้าสอบ 656,817 คน คะแนนเฉลี่ย 42.64 คะแนน สูงสุด 82 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน สังคมศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม เข้าสอบ 656,724 คน เฉลี่ย 46.24 คะแนน สูงสุด 98 คะแนน ต่ำสุด 2.00 คะแนน ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 656,701 คน เฉลี่ย 30.62 คะแนน สูงสุด 96 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 656,491 คน เฉลี่ย 32.40 คะแนน สูงสุด 100 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน วิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 656,463 คน เฉลี่ย 37.63 คะแนน สูงสุด 100 คะแนน ต่ำสุด 0 คะแนน ทั้งนี้ในภาพรวมผลการทดสอบมีค่าคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาสูงกว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยของปีการศึกษา 2557 ยกเว้นวิชาสังคมศึกษาฯ และวิทยาศาสตร์ ที่ค่าคะแนนเฉลี่ยในปีนี้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการที่ค่าคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาไม่ถึง 50% นั้น มีสาเหตุมาจากข้อสอบค่อนข้างยาก โดยข้อสอบ 70-80% มีความยาก และยากมาก ทั้งที่ความจริงแล้วข้อสอบควรมีความง่าย ปานกลาง ยาก และยากมาก เฉลี่ยอย่างละ 25% นอกจากนี้ผู้สร้างข้อสอบส่วนใหญ่เป็นอาจารย์โรงเรียนสาธิต และเป็นนักวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ข้อสอบที่ออกมาจึงค่อนข้างยาก และตัวเลือกคำตอบก็จะมีลูกเล่นมาก ขณะที่เด็กไทยเรียนแค่การวิเคราะห์ตื้นๆ ทั่วไป จึงตอบไม่ถูก ขณะเดียวกันผลการสอบโอเน็ตก็ไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากนัก แม้จะนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเด็กเข้าเรียนต่อในระดับต่างๆ แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก อีกทั้งเด็กก็รู้ว่าแม้จะทำคะแนนโอเน็ตได้ไม่ดี แต่ถึงอย่างไรก็เรียนจบอยู่ดี จึงทำให้เด็กไม่ตั้งใจสอบ.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 มีนาคม 2559