ม.44 ดัน 'ศึกษาธิการจังหวัด' เดินหน้าหรือถอยหลังปฏิรูปศึกษา : โดย...ทีมข่าวการศึกษา คมชัดลึก
แวดวงครูเวลานี้..ยังอยู่ในบรรยากาศอื้ออึง..มึน..งง..แม้จะเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง ของการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ.2557 นับแต่วันที่ 21 มีนาคม เพื่อปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ล้วงลึกไปยังระดับภูมิภาค จัดระบบโครงสร้างการบริหารใหม่ โละคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (กพท.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ 225 เขตทิ้ง แต่ยังคงไว้ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่มี ผอ.เขตพื้นที่ฯ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่
โครงสร้างใหม่ มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค มีรมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่วางแผนการบริหารงานบุคคลและจัดสรรงบประมาณของ ศธ.ในระดับภูมิภาค มีอำนาจแต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นพื้นที่ฯ หรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด
มีการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-18 จากเดิมมี 1-13 ภาค จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค (กศจ.) 77 จังหวัด ให้ผู้ว่าฯ/รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน มีศึกษาธิการจังหวัด เป็นรองประธาน ซึ่งชุดนี้จะรับโอนภารกิจหน้าที่ของทั้ง กพท. และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มาทั้งหมด โดยได้มีอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ทำงานตามที่ กศจ.มอบหมาย
โครงสร้างใหม่ จะเป็นการรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ส่วนกลางมากขึ้น แต่ขยายสาขากระทรวงเข้าไปในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด มากขึ้นและทุกส่วนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
มองลึกกว่านั้นเป็นการนำระบบการบังคับบัญชาแบบทหารที่มีการสั่งการไปตามลำดับชั้นมาใช้ ก็ทำมองภาพได้ว่าท้ายสุดแล้วผู้กุมอำนาจ ชี้ขาดมากสุดก็ไม่พ้น “รมว.ศึกษาธิการ” ซึ่งด้วยบริบทของการศึกษา ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแต่ละพื้นที่ จังหวัดเองก็ยังมีความหลากหลาย เช่นนี้แล้วโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจนี้ ทำให้เกิดคำถามจากคนในวงการครูว่า มันจะเกิดผลดี? เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการได้แท้จริงหรือ ?
แม้ว่าผู้นำประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่านี่แหละคือหนทางที่จะแก้ปัญหา ต้องปรับโครงสร้างให้เกิดการบูรณาการ เพราะที่ผ่านมาอำนาจค่อนข้างกระจัดกระจาย จนไม่มีอำนาจในการปฏิรูป จึงจำเป็นต้องออกคำสั่งปรับปรุงครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปเพื่อให้การศึกษาดีขึ้น ให้ ศธ.ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ศธ.ต้องลงไปถึงส่วนท้องถิ่นทั้งเรื่องของโรงเรียน การแต่งตั้ง อาทิ ผู้อำนวยการโรงเรียน รัฐมนตรีก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย ทั้งที่ต้องลงไปดูว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอำนาจจะลงไปข้างล่างทั้งหมดก็จะเหมือนเดิมอย่างที่เป็นมา
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงชัดว่าจำเป็นต้องปรับโครงสร้างแบบนี้เพื่อให้การทำงานเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ลดช่องว่างของการทำงาน โดยเฉพาะปัญหาการบริหารงานบุคคล ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหามากทั้งเรื่องการเกลี่ยครู บรรจุครูใหม่ การคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา หรือกระทั่งการพิจารณาโทษวินัย เหล่านี้จะให้มาอยู่ในการดูแลของ กศจ.ที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน และเชื่อมั่นว่าจะเดินไปด้วยดี แม้ใครจะมองว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง แต่เจ้าตัวไม่คิดเช่นนั้น กลับมองว่าเมื่อที่ทำอยู่ไม่ดี แล้วที่ทำให้เดิมดีกว่าก็ควรมาปรับใช้ และให้ กศจ.ที่จะมีภาคีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม
นัยของการปรับโครงสร้างนี้ นอกจากเปิดทางให้ส่วนกลางโดย รมว.ศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงไปคลุกวงในเรื่องการคัดเลือกเลือกครู ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการตัดตอนกลุ่มอิทธิพลที่แฝงตัวอยู่ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ หลายคนกว่าจะได้รับเลือกเข้ามาก็ควักกระเป๋าไปมาก ถึงเวลาต้องถอนทุนคืน!! ทั้งๆ ที่หลักการของการมี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ นั้น คือคัดคนดี คนมีความสามารถในพื้นที่มาช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะความก้าวหน้าของครู ผู้บริหาร แต่ที่ผ่านมายังมีคำถามในการตัวบุคคล
กว่า 10 ปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มอำนาจ เรียกรับผลประโยชน์ทั้งการการโยกย้าย เลื่อนขั้นเงินเดือน เล่นเส้นสาย พรรคพวกทำผิดก็ปล่อยเมินเฉย หรือใช้อำนาจหน้าที่ผลักดันพวกพ้องได้ดิบได้ดีในเส้นทางสายบริหาร บางรายร่ำรวยจากการแต่งตั้งก็เยอะ กระทั่งครูและผู้บริหารสถานศึกษาจะทำผลงานวิชาการยังถูกเรียกเงิน ที่สุดทนไม่ไหวจึงต้องสะท้อนความทุกข์ไปให้ผู้ใหญ่ให้มาจัดการ
ไม่เพียงเท่านั้น บางพื้นที่มีปัญหาทุจริตอย่างเห็นได้ชัดก็ไม่ได้รับการแก้ไข ล่าสุดจากการรวบรวมข้อมูลทุจริตใน ศธ. ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นประธานพบว่า ภาพรวม ศธ.มีเรื่องทุจริต 610 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 298 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 292 ในจำนวนนี้เป็นของ สพฐ. 300 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 201 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 99 เรื่อง
การยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ก็สร้างความสบายใจให้ครูส่วนหนึ่ง ให้ขึ้นจากหล่มปัญหาเดิมๆ ได้ และเขตพื้นที่ฯ ก็มีอำนาจลดลงปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่าวิธีการนี้สวนกระแสปฏิรูปการศึกษาเกินไป โดยเฉพาะการยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯแล้วหวนไปสู่การขับเคลื่อนโดย กศจ.ทั้งที่เดินมาไกลมากกว่า 30 ปีจะเกิดประโยชน์อะไร ในปลายทางเด็กจะได้อะไรจากเรื่องนี้
เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.กำหนดให้ กศจ.ที่มีผู้ว่าฯ/รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน มีองค์คณะรวม 22 คน มีความกังวลใจเช่นกันว่าผู้ว่าฯ เข้าใจในการศึกษา รู้พื้นที่และความต้องการของครูและนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งการจัดการศึกษา เกลี่ยกำลัง ย้ายครูได้ถูกต้อง จะทำได้รวดเร็วสอดคล้องและจะทำให้การเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาให้เป็นจริงหรือไม่
หรือแม้ในองค์ประกอบใน กศจ.จะให้มีภาคส่วนต่างๆ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ยังน้อยกว่าสัดส่วนราชการ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้กลไกนี้เกิดความชัดเจน เข้มแข็ง ศธ.ต้องปรับบทบาทมาสนับสนุนในเชิงนโยบาย ส่วนการจัดการศึกษาให้เปิดทางให้ภาคีเครือข่ายมาทำงานตรงนี้จะทำให้เกิดภาพการพัฒนาที่ชัดเจน
จากนี้ภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนการศึกษาในภูมิภาคจังหวัด จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค คอยควบคุม ซึ่งระหว่างทางที่ กศจ.ยังไม่เกิดขึ้น รมว.ศึกษาธิการ จะมอบให้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 ในฐานะศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทำหน้าที่แทนไปก่อน เพื่อให้การทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ติดขัด
เนื่องจาก กศจ.จะมีบทบาทมากในการบริหารงานบุคคล จะต้องวางหลักเกณฑ์และกติกาให้ชัดเจนด้วยว่า จะมีแนวทางอะไรที่ทำให้ครูและผู้บริหารมั่นใจได้ว่าในระหว่างที่ยังบังคับใช้คำสั่งนี้ราว 1 ปี 6 เดือนตามอายุของรัฐบาล การแต่งตั้ง โยกย้าย จะเป็นไปอย่างยุติธรรม โปร่งใส ปราศจากเส้นสาย
ที่สำคัญเวลานี้ครูและผู้บริหารหลายคนก็หวั่นเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เดิมเมื่อสมัยมีศึกษาธิการจังหวัด ที่มักถูกเกณฑ์เข้าไปช่วยงานต่างๆ จนไม่เป็นอันได้สอนหนังสือ แม้ระยะหลังเมื่อกระจายอำนาจมาเป็นเขตพื้นที่การศึกษาเรื่องเหล่านี้ลดลง
ช่วงเริ่มต้นคงตอบไม่ได้ว่าการใช้กลไกขับเคลื่อนประเทศด้วยการรวมศูนย์อำนาจครั้งนี้ จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาที่มีความหลายหลาย ทั้งรูปแบบพื้นที่ คุณภาพครู เด็ก โอกาสทางการศึกษา ฯลฯ ได้ผลหรือไม่ และจะดีจริงหรือถ้าจะใช้โมเดลเดียวกันทุกจังหวัด คงต้องรอดูภารกิจที่รัฐบาลใช้ ม.44 ขับเคลื่อนจะเป็นจริงแค่ไหน ที่สำคัญจับตาตัวบุคคลไว้ที่ กศจ.จะมีนัยทางการเมืองหรือการศึกษามากกว่ากัน..
ที่มา คมชัดลึก วันที่ 28 มีนาคม 2559