ปรับเกณฑ์มาตรฐานสากลให้เหมาะกับบริบทประเทศและเข้าโครงการด้วยความสมัครใจ
สกอ.เตรียมออกเกณฑ์จัดอันดับมหา'ลัยในประเทศ ย้ำเหมาะสมกับบริบท และเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ให้สถาบันอุดมฯ เข้าโครงการด้วยความสมัครใจ แบ่งกลุ่มเป็นมหาวิทยาลัยเก่า-ใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อวิเคราะห์การจัดอันดับมหาวิทยาลัย และเสนอแนะตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาตัวชี้วัดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันจัดอันดับคิวเอส, ไทม์ไฮเออร์เอ็ดดูเคชั่น และทอมสัน รอยเตอร์ เป็นต้น เพื่อพิจารณาว่ามีตัวชี้วัดใดบ้างที่มหาวิทยาลัยไทยต้องเร่งผลักดันเพื่อที่จะทำให้ติดอันดับโลกได้ นอกจากนี้ยังได้พิจารณาด้วยว่ามีตัวชี้วัดใดบ้างที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยในอนาคตต่อไป ซึ่งการจัดอันดับครั้งนี้จะไม่ได้เป็นการจัดอันดับอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการส่งเสริมเรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัยด้วย
"การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยของ สกอ.นั้นจะทำในบริบทที่เหมาะสมกับมหาวิทยาลัยไทย แต่อยู่ในเกณฑ์ของมาตรฐานสากล ซึ่งเวลานี้ยังไม่ได้มีการสอบถามมหาวิทยาลัยถึงเรื่องการจัดอันดับในไทย แต่คิดว่าน่าจะไม่มีเสียงคัดค้าน เพราะครั้งนี้จะมีเกณฑ์และตัวชี้วัดที่ชัดเจนไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก"
เลขาฯ กกอ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเกณฑ์และตัวชี้วัดต่างๆ เมื่อจัดทำเกณฑ์แล้วเสร็จจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณา และประกาศให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทราบต่อไป โดยเบื้องต้นการจัดอันดับอาจจะให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง และอาจแบ่งการจัดอันดับเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ มหาวิทยาลัยกลุ่มเก่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 28 มีนาคม 2559