เร่งตั้งบอร์ดศึกษาธิการจังหวัดขับเคลื่อนปฏิรูปศึกษา เหลือเพียงการหาตัวแทนภาคประชาชน ผู้แทนครู อย่างละ 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ที่จะได้มาโดยการเสนอชื่อไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ด้าน "ปลัด ศธ." คาดอย่างแรกน่าจะเห็นผลด้านการเกลี่ยอัตรากำลังที่ยังติดขัดในโครงสร้างบริหารเดิมได้ภายใน 6 เดือน
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาคตามคำสั่งในมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สคช.) ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ส่งรายชื่อผู้แทนที่จะเป็นคณะกรรมการ กศจ.มาแล้ว เหลือเพียงผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นข้าราชการและต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน จะไม่ให้มาจากการเลือกตั้งเด็ดขาด แต่จะเปิดให้มีการเสนอชื่อหรือสมัครใจ โดยเปิดกว้างให้กับข้าราชการครูในท้องถิ่นทุกสังกัด และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 3 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธาน กศจ.เป็นผู้เสนอรายชื่อมา
"นอกจากนี้ ผมจะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และรอง ศธจ. พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 เป็นสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงาน ส่วนที่มีคำถามว่าการให้ ผอ.สพป.เขต 1 ทำหน้าที่ ศธจ.เหมาะสมหรือไม่นั้น การให้ทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นการให้ดำเนินการไปพลางก่อน หากใครไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานได้ไม่ดีก็สามารถที่จะปรับได้ทันที"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินการในลักษณะนี้จะถูกมองว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจ โดยดึงอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายคืนมาที่ส่วนกลางหรือไม่ นพ.กำจรกล่าวว่า เรื่องนี้หากพิจารณาคำสั่งตามมาตรา 44 จะเห็นว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยังต้องเสนอจากพื้นที่ขึ้นมาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพียงแต่เปลี่ยนการเสนอจากคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เป็นการเสนอโดย กศจ. อย่างไรก็ตาม คำสั่งตามมาตรา 44 ได้กำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ที่มี รมว.ศธ.เป็นประธาน มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายบางประเภทหรือระดับตำแหน่งตามที่ รมว.ศธ.กำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนด เป็นเพียงการเปิดช่องเพื่อยืดหยุ่นในกรณีที่การแต่งตั้งโยกย้ายมีปัญหาหรือไม่ยอมย้าย จึงค่อยมากำหนดภายหลัง ไม่ใช่เรื่องที่รีบร้อน ต้องรอดู เพราะหากพูดไปก่อนก็จะไปกระทบคนกลุ่มใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ที่ต้องเห็นผลภายใน 6 เดือนคือการเกลี่ยอัตรากำลัง หากใช้อำนาจ ก.ค.ศ.แล้วมีปัญหาก็จะใช้อำนาจของ รมว.ศธ.แทน
สำหรับบอร์ด กศจ.มีจำนวน 22 คน นอกจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วยังประกอบด้วย แทนหอการค้าจังหงัด การท่องเที่ยวจังหวัด ผู้แทนจากหน่วยงาน 5 แท่งใน ศธ. และภาคประชาชนอีก 7 คน.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 25 มีนาคม 2559