โดย เพชร เหมือนพันธุ์
อาฟเตอร์ช็อก ลูกที่ 4 หลังนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ คือ การปฏิรูปการวัดผลการศึกษา เป็นขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพของผู้เรียนขั้นสุดท้าย ว่ามีมาตรฐานที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดหรือไม่ เป็นเครื่องมือกำหนดวิธีการพัฒนาผู้เรียนด้วย เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ ที่มีคุณภาพจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ สามารถคัดกรองให้ได้ตัวสินค้าที่มีขนาดได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ผลผลิตที่มีมาตรฐานสูงผ่านการตรวจสอบคุณภาพมีคุณภาพเยี่ยมเท่านั้นที่ลูกค้าต้องการ
หน้าที่ของผู้ผลิตสินค้าคือ ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานของสินค้า ต้องผ่านการประเมินคุณภาพที่ได้มาตรฐาน มีปริมาณและคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือ ส่วนขบวนการผลิตเป็นส่วนของผู้ผลิตจะไปเพิ่มคุณภาพไปลดต้นทุนเป็นเรื่องภายในของหน่วยผู้ผลิตเอง หน้าที่ของผู้บริโภคคือเลือกบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพตามรสนิยมของผู้บริโภคเองด้วยราคาที่มีเหตุผลเท่านั้น
ปัญหาของการศึกษาไทย ทำไมเด็กไทยที่เรียนจบ ม.ปลาย หรือจบมหาวิทยาลัยมา (จำนวนหนึ่ง) จึงยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขาดทักษะที่ตลาดต้องการ เช่น ขาดทักษะการคิดการแก้ปัญหา พึ่งตนเองไม่ได้ สร้างงานให้ตนเองไม่เป็น ไม่สามารถสร้างอาชีพให้กับตนเองได้ ไม่มีความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ ไม่สู้งานหนัก ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ ตกงานทั้งๆ ที่สถานประกอบการจำนวนมากยังขาดแรงงาน หรือเพราะว่าผลิตภัณฑ์สินค้าไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ไม่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ
ระบบควบคุมคุณภาพ (Quality Control ; QC) คัดกรองสินค้าจุดสุดท้าย ในระบบการศึกษาคือ ระบบการวัดผลประเมินคุณภาพผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้าระบบนี้มันชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้ ทำให้เด็กที่ไม่มีคุณภาพหลุดลอดตาข่ายเครื่องมือการวัดผลออกมาได้ แล้วอย่างนี้สินค้าทางการศึกษาของไทยจะไปแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างไร เครื่องมือการวัดผลการเรียนรู้มันตกรุ่นล้าสมัย มันชำรุด ควรหาซื้อเครื่องมือวัดผลรุ่นใหม่ได้หรือยัง หรือจะปล่อยไปตามยถากรรมเช่นนี้ แล้วประเทศชาติจะยังอยู่ได้อย่างไร
ธรรมชาติของผู้บริโภค จะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพที่ออกวางขายในท้องตลาด จะดูที่คุณภาพ จะไม่ตามไปดูถึงขบวนการผลิต อยากได้รถยนต์ไปนั่ง ก็จะไปหาดูว่ารถยนต์ยี่ห้ออะไรที่ตลาดต้องการ รุ่นไหนสวยงาม ปลอดภัย มั่นคงแข็งแรง หรือถ้าอยากได้ปลามารับประทานก็จะไปเลือกซื้อปลาที่ตลาด ไปเลือกเอาชนิด ประเภทที่ตนต้องการ สด สะอาด รสชาติดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จะไม่ตามไปดูถึงว่า มีวิธีการจับ ใช้เบ็ด ใช้ตาข่าย ใช้เรือประมง หรือมีวิธีการผลิตอย่างไร
ลูกค้าจะตัดสินใจเลือกสินค้าโดยการประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ว่าตัวสินค้าที่เขาต้องการนั้น มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่เขาต้องการหรือไม่ ซึ่งมีเกณฑ์ (Criteria) เป็นเครื่องช่วยในการพิจารณาแล้วจึงตัดสินใจ (Decision) เลือกซื้อสินค้านั้นตามความต้องการของตนเอง จะไม่ตามไปดูถึงแหล่งผลิต
การวัดการประเมินผลการศึกษาของไทยแต่เดิมมา เราจะวัดผลหลังเรียน จะเป็นการวัดผลแบบคลาสสิก (Classic) คือการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนหลังจากผ่านการเรียนมาแล้ว เพื่อให้รู้ว่าผู้เรียนมีคุณสมบัติเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าผ่านเกณฑ์ผู้เรียนก็จะได้รับใบประกาศว่าเรียนจบเนื้อหาตามหลักสูตร มีคุณสมบัติตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ทุกประการ แต่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็แปลว่าสอบตก ไม่ผ่าน ต้องกลับไปเรียนใหม่หรือให้เรียนซ้ำชั้น
เครื่องมือวัดประเมินผลการเรียนของไทยที่พัฒนามาอย่างยาวนาน มีมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการวัดว่าต้องการวัดอะไร เช่น วัดความรู้ ก็ใช้วิธีการตั้งคำถามให้ตอบ วัดความสามารถ ให้ลงมือปฏิบัติการในสิ่งที่เขาได้เรียนมา วัดปฏิภาณไหวพริบความฉลาด ก็ให้แก้ปัญหาหรือสร้างสถานการณ์วิกฤตให้แก้ไข วัดทักษะความชำนาญการ ก็ให้แข่งขันต่อสู้หรือให้แสดงให้ดู วัดพลังกาย ก็ให้ใช้พลังความเข้มแข็งเข้าต่อสู้ ยกดึงลากของหนักให้เห็น วัดความอดทนก็ให้เผชิญสถานการณ์ที่มีสิ่งเร้า เช่น ความหิว ความสวย ความเจ็บปวด ความยั่วยวนใจ วัดความซื่อสัตย์สุจริต วัดศีลธรรม ก็ให้ทดสอบคุณธรรมโดยมอบหมายงานที่มีผลประโยชน์มากมายให้ทำ วัดกิริยามารยาท ก็ดูได้จากการแสดงออกท่าทางที่ปรากฏในสังคม ดังนั้นการวัดประเมินผลต้องเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกกับลักษณะพฤติกรรมที่ต้องการวัดเท่านั้น
สถาบันที่มีหน้าที่ในการผลิตคนจึงต้องเป็นผู้กำหนดว่าสิ่งที่ต้องการจะวัดคุณภาพของคนคืออะไร เครื่องมือที่ใช้วัดจะใช้เครื่องมืออะไร เช่น จะใช้การทดสอบ จะตรวจดูผลงานที่ผ่านมา จะใช้การสังเกต จะใช้การสำรวจ จะใช้การประมาณค่า จะใช้การจดบันทึก จะใช้การสัมภาษณ์ จะใช้การสอบถาม จะใช้สังคมมิติ จะให้สอบข้อเขียน หรือจะให้สอบเติมคำ ให้สอบจับคู่ ให้สอบกาถูกผิด ให้สอบเลือกตอบ หรือให้เขียนรายงาน ต้องเลือกใช้เครื่องมือให้ตรงกับคุณสมบัติที่ต้องการวัด
การวัดประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย หากเริ่มนับจากหลักสูตร 2503 การวัดผลการเรียนก็จะใช้การสอบวัดผลปลายปีตัดสินผลการเรียน สอบเป็นรายวิชา คะแนนที่สอบในแต่ละวิชาใช้ค่าร้อยละ ทุกรายวิชาที่เรียนต้องมีผลการสอบ คะแนนสอบต้องได้ตั้งแต่ 50% ขึ้นไปจึงจะผ่านได้เลื่อนชั้น ถ้าสอบตกต้องให้เรียนซ้ำชั้น ในหลักสูตรระดับอุดมศึกษาและระดับวิทยาลัยครู (พ.ศ.2508) ใช้ระบบ Enrollment ลงทะเบียนเรียนเป็นรายวิชา การวัดผลการเรียนวัดผลเป็นรายวิชา การวัดผลใช้ระบบแบบอิงกลุ่ม ใช้คะแนน T-Score ตัดสินผลการเรียนออกเป็นระดับ (Grade) คะแนนผลการเรียน แบ่งออกเป็น 5 เกรด คือ ก ข ค ง และ จ หรือ A, B, C, D, และ E หรือ F
การพิจารณาผลการเรียน พิจารณาเป็นรายวิชา ใครได้เกรด จ หรือ E หรือ F ในรายวิชาใด ให้ถือว่าสอบตกในรายวิชานั้น แล้วจะต้องกลับมาเรียนซ้ำใหม่เฉพาะในรายวิชานั้น ให้นับรวมผลการเรียนในทุกรายวิชา ผลการเรียนรายภาค รายปี ให้คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย (Average) ถ้าใครได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 ถือว่าเรียนไม่จบหลักสูตร อาจถูกให้ออก หรือรีไทร์ (Retire) หรือถ้าคะแนนตกไม่ต่ำเกินไปอาจให้กลับมาเรียนซ้ำหรือเรียนเพิ่มบางรายวิชา เพื่อให้มีคะแนนมาครอบ (Cover) เกรดเฉลี่ย เพื่อให้ดึงขึ้นมาถึง 2.00 ให้ได้
หลักสูตร 2521 การศึกษาขั้นพื้นฐาน การวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียนเปลี่ยนเป็นการใช้การวัดผลแบบอิงเกณฑ์ วัดผลการเรียนเป็นรายวิชา ผู้เรียนจะต้องเรียนให้ครบตามโครงสร้างของหลักสูตรในแต่ละระดับ วิธีตัดสินผลการเรียนใช้การตัดสินเป็นรายวิชา ระดับผลการเรียนจะแบ่งออกเป็นระดับเกรด 5 ระดับ คือ ระดับเกรด 1, 2, 3, 4, 0, ร, มส., ผ., มผ. (ร. มส. ผ. มผ. ไม่ถือว่าเป็นผลการเรียน) เด็กที่จะเรียนจบหลักสูตร ต้องไม่มีเกรดติด ร. มส. และ 0 (ในบางรายวิชา) ตามเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด การวัดผลปลายภาคเรียน ปลายปีการศึกษาจะเป็นเกณฑ์การจบหลักสูตร ส่วนการวัดผลระหว่างเรียน เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเรียนการสอน ไม่นับเป็นผลการเรียนที่นับเกรดได้ คะแนนเฉลี่ยในการเรียนจบหลักสูตร ต้องได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1.00 และต้องไม่ ติด ร. มส. และ 0 ในบางรายวิชา
การวัดประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้ระบบนี้มาตั้งแต่มีหลักสูตร 2521 มาจนถึงปัจจุบัน นับเวลาได้ถึง 37 ปี มีปัญหามากที่สุด ปัญหาที่พบคือการสอบวัดผลรายจุดประสงค์ ทั้งจุดประสงค์นำทางจุดประสงค์ระหว่างทางและจุดประสงค์ปลายทาง มีความยุ่งยากวุ่นวายต่อการปฏิบัติ เป็นระเบียบแนวปฏิบัติที่ไร้ประสิทธิภาพ
รูปแบบของเครื่องมือวัดผล จะใช้ข้อทดสอบแบบ ปรนัย เป็นส่วนมากซึ่ง ง่ายต่อการเดาของนักเรียน ง่ายต่อการยกเมฆให้เกรดให้คะแนนของครู ยากต่อการจะติดตามควบคุมตรวจสอบการวัดประเมินผลของครูจากฝ่ายบริหารได้ มีจำนวนเอกสารทะเบียนมีระเบียนการวัดผลอีกมากมาย เช่น ปพ.1 ปพ.2 ปพ.3 ปพ.4 ปพ.5 ปพ.6 ปพ.7 ปพ.8 และ ปพ.9
ปัญหาการสอบแก้ตัวเมื่อเด็กสอบตกเป็นรายวิชา มีปัญหาในด้านการปฏิบัติมาก เด็กที่สอบตก ส่วนหนึ่งจะไม่ยอมไปสอบแก้ตัวตามตารางเวลาที่โรงเรียนกำหนดไว้ พอเรียนไปถึง ชั้นตัวประโยค คือ ม.3 และ ม.6 เด็กที่มีผลการสอบตกรายวิชาสะสมมา 1-3 ปี ก็จะมาเร่งออรอกันขอสอบแก้ตัว เพื่อให้จบหลักสูตรทันเพื่อน ขณะที่มีครูประจำวิชาบางคนก็ย้ายไปที่อื่นแล้วหรือเกษียณไปแล้ว ทำให้การสอบแก้ตัวยุ่งยากมาก ก็เลยเกิดการสอบแก้ 0 ร. มส. โดยการ “ให้พ่อแม่ผู้ปกครองมาสอบแทน ใช้ไก่แลกเกรด ใช้หนังสือแลกเกรด ใช้กระถางต้นไม้แลกเกรด” ครูบางคนต้องหลับหูหลับตาให้คะแนนให้เกรด เพราะถ้าเด็กสอบตกมากครูก็จะมีปัญหา ถูกผู้บริหารเพ่งเล็ง อาการสอบตกแล้วให้เรียนซ้ำจึงชั้นไม่มี เด็กบางคน สามารถสอบ แก้ 0 ร. มส. จำนวนตกสะสม 10-20 ตัว ได้ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์
ปัญหานี้รู้กับมายาวนานทั่วประเทศแต่ไม่มีคนแก้ไข จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการศึกษาทั่วโลกว่าการศึกษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ครูถูกบังคับให้เด็กสอบแล้วต้องผ่านการประเมินทุกคนโดยที่ผู้บริหารโรงเรียนต้อง หลับตาข้างหนึ่งเพื่อให้ไม่ต้องเห็นจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบกับการให้เกรดให้คะแนนที่ไม่ถูกต้องแบบนี้
โบราณบอกว่า การณ์ใดที่ทำได้ยาก ทำแล้วเกิดผลไม่คุ้มค่า เหนื่อยทั้งผู้สอน เหนื่อยทั้งผู้เรียน ท่านให้เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น วัดผลการศึกษาเหมือนกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้าย เป็นตัวกำหนดวิธีการผลิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ปฏิรูประบบการวัดผลการศึกษา ให้ทันในครั้งนี้
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 25 มีนาคม 2559