ปลัดศธ.เผยได้รายชื่อผู้แทน 5 องค์กรหลักในบอร์ดกศจ.ครบแล้ว ยังรอในส่วนผู้แทน ปชช.-ครูในท้องถิ่นที่ต้องเป็นที่ยอมรับโดยเสนอชื่อหรือสมัครใจ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิให้ผู้ว่าฯ เสนอ ระบุเร็วๆ นี้ลงนามตั้ง ศธจ. มอบ สพป.เขต1 ปฏิบัติหน้าที่ ย้ำคำสั่งนี้ไม่ใช่รวมศูนย์ รมว.ศึกษาธิการใช้อำนาจตามความจำเป็น ชี้ภายใน 6 เดือนเห็นผลเรื่องเกลี่ยอัตรากำลัง
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาคตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่าในคณะกรรมการ กศจ.จะต้องประกอบด้วยผู้แทนองค์กรหลัก ศธ. และภาคส่วนต่างๆ ในส่วนของ ศธ. ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ส่งรายชื่อผู้แทนที่จะเป็นคณะกรรมการ กศจ.มาแล้ว
ทั้งนี้ เหลือเพียงผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นข้าราชการและต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน จะไม่ให้มาจากการเลือกตั้งเด็ดขาดแต่จะเปิดให้มีการเสนอชื่อหรือสมัครใจโดยเปิดกว้างให้แก่ข้าราชการครูในท้องถิ่นทุกสังกัดและผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 3 คน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธาน กศจ.เป็นผู้เสนอรายชื่อมา
"ในคำสั่งตามมาตรา 44 ได้กำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาคที่มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธานมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายบางประเภทหรือระดับตำแหน่งตามที่ รมว.ศึกษาธิการ กำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นเพียงการเปิดช่องเพื่อความยืดหยุ่นในกรณีที่การแต่งตั้งโยกย้ายมีปัญหาหรือไม่ยอมย้าย ต้องเห็นผลภายใน 6 เดือน คือการเกลี่ยอัตรากำลังหากใช้อำนาจ ก.ค.ศ.แล้วมีปัญหาก็จะใช้อำนาจของ รมว.ศึกษาธิการ แทน" ปลัด ศธ.กล่าว
วันเดียวกัน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว1270 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2559 เรื่อง การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2559 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แจ้งให้ทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้เลื่อนการสอบแข่งขันดังกล่าวไปก่อนไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์ และยืนยันว่าไม่กระทบต่อการเรียนการสอนของเด็กที่จะเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างแน่นอน
สำหรับปฏิทินที่ สพฐ.ประกาศไปก่อนหน้านี้รับสมัครสอบแข่งขันในวันที่ 28 มีนาคม รับสมัครสอบแข่งขันวันที่ 4-10 เมษายน ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบแข่งขันวันที่ 20 เมษายน สอบข้อเขียนภาค ก และภาค ข วันที่ 7-8 พฤษภาคม สอบสัมภาษณ์วันที่ 9 พฤษภาคม เป็นต้นไป และประกาศผลการสอบแข่งขันภายในวันที่ 16 พฤษภาคม ออกไปก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก