เรียกประชุม “พ่อเมือง” ซักซ้อมงาน “กำจร” ชี้เกลี่ยคน 6 เดือนต้องเห็นผล
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค ตามคำสั่งในมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้ส่งรายชื่อผู้แทนที่จะเป็นคณะกรรมการ กศจ.มาแล้ว เหลือเพียงผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นข้าราชการและต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน จะไม่ให้มาจากการเลือกตั้งเด็ดขาด แต่จะเปิดให้มีการเสนอชื่อหรือสมัครใจ โดยเปิดกว้างให้กับข้าราชการครูในท้องถิ่นทุกสังกัด และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 3 คน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ ประธาน กศจ.เป็นผู้เสนอรายชื่อมา
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตนได้นัดหมายกับนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ กับกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งจะจัดทำคู่มือการ ปฏิบัติหน้าที่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด จากนั้นในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศประชุมทางไกลผ่านระบบ VTC ที่ มท. โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายและซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินงาน นอกจากนี้ตนจะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และรอง ศธจ. พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 เป็นสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงาน ส่วนที่มีคำถามว่า การให้ ผอ.สพป.เขต 1 ทำหน้าที่ ศธจ.เหมาะสมหรือไม่นั้น การให้ทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นการให้ดำเนินการไปพลางก่อน หากใครไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานได้ไม่ดีก็สามารถที่จะปรับได้ทันทีต่อข้อถามว่า มีการมองว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจโดยดึงอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายคืนมาที่ส่วนกลาง
นพ.กำจรกล่าวว่า เรื่องนี้หากพิจารณาคำสั่งตามมาตรา 44 จะเห็นว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยังต้องเสนอจากพื้นที่ขึ้นมาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพียงแต่เปลี่ยนการเสนอจากคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เป็นการเสนอโดย กศจ. อย่างไรก็ตาม คำสั่งตามมาตรา 44 ได้กำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ที่มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายบางประเภทหรือระดับ ตำแหน่งตามที่ รมว.ศึกษาธิการกำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนด เป็นเพียงการเปิดช่องเพื่อยืดหยุ่นในกรณีที่การแต่งตั้งโยกย้ายมีปัญหาหรือ ไม่ยอมย้าย จึงค่อยมากำหนดภายหลัง ไม่ใช่เรื่องที่รีบร้อนต้องรอดู เพราะหากพูดไปก่อนจะกระทบคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ที่ต้องเห็นผลภายใน 6 เดือน คือการเกลี่ยอัตรากำลัง หากใช้อำนาจ ก.ค.ศ.แล้วมีปัญหาก็จะใช้อำนาจของ รมว.ศึกษาธิการแทน.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 25 มีนาคม 2559