พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีสายวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาสอบบรรจุเป็นครูได้ โดยต้องการสอบถามความชัดเจน ในเรื่องนี้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบบ้าง โดยเฉพาะประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าผู้ที่จบ 3 สาขาดังกล่าวจะทำข้อสอบวิชาเฉพาะได้ดีกว่านั้น การออกข้อสอบไม่ได้มีความยากจนทำให้ผู้ที่จบสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทำไม่ได้ จึงไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่เรื่องนี้เราต้องการเปิดโอกาสให้คนเก่งมาเป็นครู อีกทั้งต้องการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน
"เป็นเรื่องน่ายินดีที่เด็กจบวิศวะแล้วมีความตั้งใจมาเป็นครู เพราะหาได้ยากมาก ซึ่งเราต้องหันกลับมามองแล้วว่า ในเมื่อตลาดการผลิตครูเป็นของเราทำไมเราถึงไม่ได้คนเก่งๆ มาเป็นครู หรือเราปิดโอกาสมากจนเกินไปเราก็ควรเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นครูด้วย เพื่อที่จะได้คัดคนเก่งๆ มาสอนเด็ก ดังนั้นคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก็ต้องทบทวนตัวเองด้วยเช่นกันว่าการเปิดรับนักศึกษาที่ผ่านมาเน้นปริมาณหรือคุณภาพ" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ไม่ได้จบสายครูแต่ต้องการมาสอบบรรจุครู และเมื่อสอบบรรจุได้ก็จะออกใบอนุญาตปฎิบัติการสอนชั่วคราวให้และให้ไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตหรือ ป.บัณฑิตฝึกทักษะจิตวิทยาของความเป็นครู รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน และมีการทดสอบจากการปฏิบัติงานจริง ดังนั้นจึงมอบหมายให้คุรุสภาไปดูว่าสถาบันที่เปิดเรียน ป.บัณฑิต เพียงพอกับความต้องการหรือไม่
อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีคนที่ต้องการเรียนหลักสูตรนี้จำนวนมาก ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลมีสถาบันที่เปิดหลักสูตร ป.บัณฑิตเพียง 58 แห่งทั่วประเทศ และแต่ละแห่งสามารถรับได้ 180 คนเท่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนถึง 800 คน แต่รับได้ 180คน เป็นต้น แต่ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมด้วยไม่ใช่เปิดมากจนเกินไป และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคุรุสภา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา
ที่มา คมชัดลึก ฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2559 (กรอบบ่าย)