"การุณ"เชื่อปรับงานบริหารบุคคลในภูมิภาค ทำให้การทำงานมีเอกภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนที่ทำให้เกิดความล่าช้าได้ ด้าน"จาตุรนต์"สวดยับ สร้างความเสียหายให้การศึกษาชาติ ชี้ควรมุ่งพัฒนาครูและหลักสูตรการเรียนมากกว่า
ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 มีคำสั่ง เรื่อง การขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคนั้น วันนี้ (23 มี.ค.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) พร้อมจะขับเคลื่อนและเร่งดำเนินการตามนโยบายและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้การทำงานเป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานต่าง ๆ ขององค์กรหลัก ยังขาดการบูรณาการร่วมกัน ดังนั้นเมื่อมีคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)เกิดขึ้น ก็จะทำให้ระบบการทำงานในพื้นที่มีความเชื่อมโยงกัน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนการทำงานตามโครงสร้างการบริหารงานบุคคลรูปแบบใหม่จะมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)เขต 1 ทำหน้าที่เป็นศึกษาธิการจังหวัดและเป็นเลขานุการ กศจ. ส่วน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาอื่น ๆ ก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม เช่น การประสานงานขับเคลื่อนงานวิชาการ การติดตามประเมินผลและการนิเทศงาน เป็นต้น ส่วนที่มีข้อห่วงใยว่าการทำงานของบอร์ด กศจ.อาจทำได้ไม่เต็มเวลาและเกิดความล่าช้าในการปฎิบัติ เนื่องจากกรรมบางคนต้องดูแลงานส่วนอื่นด้วยนั้น ในประเด็นนี้ก็จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นโดยมีตัวแทนเขตพื้นที่เข้าไปร่วม เพื่อช่วยงานบอร์ด กศจ.
“ระหว่างนี้เพื่อให้การทำงานไม่เกิดสุญญากาศ สพฐ.จะรวบรวมงานที่ยังค้างอยู่ เช่น การสอบบรรจุครูผู้ช่วย การพิจาณาเงินเดือนข้าราชการครู มาจัดทำเป็นข้อมูลไว้รอเสนอให้บอร์ด กศจ.พิจารณา ซึ่งคาดว่าคำสั่งแต่งตั้งบอร์ด กศจ.จะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ยืนยันว่า เขตพื้นที่ฯไม่ได้ถูกลดบทบาทลง ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม เพียงแต่ภาระงานเดิมที่เคยดูโดยเฉพาะเรื่องการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย การสอบสวนวินัยข้าราชาการจะไปอยู่ที่บอร์ด กศจ.แทน”นายการุณกล่าว
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การออกคำสั่งนี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการศึกษา หรือมีงานวิจัยใด ๆ มารองรับ น่าจะมาจากการพูดคุยกันไม่กี่คน โดยขาดการหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่เสนอและผู้ออกคำสั่งขาดความเข้าใจต่อความซับซ้อนของการจัดการศึกษา และขาดความรู้ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของปัญหาการจัดการศึกษาในต่างจังหวัด จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกจุดและจะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเรื่องที่ควรทำกลับไม่ยอมทำ โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน และการพัฒนาครูที่ต้องการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
“ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพในระดับจังหวัด แต่การมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนั้น จะเกิดปัญหากรณีการขาดความเข้าใจต่อการจัดการศึกษา ซึ่งไม่แน่ว่าจะเกิดเอกภาพได้จริง เพราะเหมือนเป็นการทำงานที่ไม่มีทิศทาง อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยก็อาจไม่ฟังรัฐมนตรีศึกษาก็ได้ จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาจะล่าช้าออกไปกว่าเดิม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการศึกษาชาติเป็นอย่างมาก”อดีต รมว.ศึกษาธิการกล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 มีนาคม 2559