พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมประชุมชี้แจงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา 225 เขตพื้นที่การศึกษา เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 และ 11/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2559
รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวย้ำว่า คำสั่งทั้ง 2 คำสั่งที่ออกมา ไม่ได้เป็นการยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพราะได้กระจายการจัดการศึกษาไปยังพื้นที่ทุกจังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 ของทุกจังหวัดที่ได้รับมอบหมายหน้าที่เพิ่มเติมในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและเลขานุการของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ด้วย จึงต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจเพิ่มขึ้น และจะต้องเร่งสื่อสารให้ครูและบุคลากรในพื้นที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด รวมทั้งสื่อสารกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะมีเงื่อนไขเวลาในการดำเนินงานตาม Roadmap การปฏิรูปอีกเพียง 1 ปีครึ่งเป็นตัวกำหนด ประกอบกับการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้บริหารที่จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ หากทุกคนมองว่าเรื่องนี้มีความท้าทาย ก็จะต้องเดินหน้าสู้กับงานที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันให้ได้
พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงสรุปถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ตามคำสั่งดังกล่าวใน 5 ประเด็น ได้แก่ เหตุผลความจำเป็น, การใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ, การใช้อำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค, แผนการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนตามประเด็นปฏิรูปการศึกษา
ในส่วนของการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนตามประเด็นปฏิรูปนั้น ได้กล่าวย้ำถึงโครงการสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีสาระสำคัญสรุปดังนี้
1) ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทั้งในส่วนที่ดำเนินการแล้ว จะต้องมีการทบทวนว่าที่ผ่านมาดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนครบทั้ง 4H อย่างสมดุลหรือไม่ ต้องเพิ่มกิจกรรมใดบ้างในปีต่อไป พร้อมทั้งจะต้องจัดเตรียมโรงเรียนที่จะต้องขยายโครงการเพิ่มเติมด้วย
2) การคืนครูสู่ห้องเรียน หมายถึงการดำเนินการให้มีครูครบชั้น ครูตรงสาขา จำนวนนักเรียนต่อห้อง ให้มีความเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินการในโรงเรียนขนาดเล็กด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการเตรียมที่จะดำเนินโครงการคืนครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน เพื่อเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการในเรื่องนี้ ซึ่งผลที่ออกมาอาจจะเห็นผลช้าหรือเร็วก็แล้วบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ก็จะมีทิศทางและแนวทางการทำงานที่มีความชัดเจนมากขึ้น
3) การผลิตและพัฒนาครู กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นรองรับในเรื่องนี้ไว้แล้ว จำนวน 4,000 คนต่อปี เพื่อให้ทุนเรียนครูและบรรจุในภูมิลำเนาของตนเอง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภายังได้อนุมัติให้ผู้เรียนจบปริญญาตรีใน 3 สาขาขาดแคลน คือสาขาวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถเรียนครูหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เพื่อมาเป็นครูได้
4) การจัดการเรียนการสอนสะเต็มในสถานศึกษา ขณะนี้ รมว.ศึกษาธิการได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย 3 คณะ เพื่อทำหน้าที่กำหนดคำนิยามความหมายของสะเต็มศึกษาที่ตรงกัน มีการจัดระดับการเรียนการสอนสะเต็มในโรงเรียนที่ดำเนินการอยู่แล้ว มีแผนดำเนินงานในแต่ละระยะที่มีเป้าหมายและการประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อให้การขับเคลื่อนในสถานศึกษามีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ทั้งนี้ สพฐ.จะจัด Smart Trainer เข้าไปช่วยดำเนินการในแต่ละพื้นที่ด้วย
5) การยกระดับความรู้ภาษาอังกฤษ ขอให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาช่วยขยายผลโครงการและการดำเนินงานต่างๆ ด้วย เช่น การฝึกภาษาอังกฤษจากแอพพลิเคชั่น Echo English, การจัดเตรียมแผนรองรับการขยายผลของครูแกนนำ (แม่ไก่) ด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หลักสูตร Boot Camp ด้วยรูปแบบของค่ายพัฒนาครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 350 คน ที่จะลงไปช่วยถ่ายทอดเนื้อหาจากการอบรมและเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษให้ครูในเขตพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งจัดหาครูที่จะเข้าร่วมการอบรมหลักสูตร Boot Camp ในรุ่นต่อไปด้วย
6) การอ่านออกเขียนได้ แม้ว่าตอนนี้นักเรียนชั้น ป.1 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จะลดลงแล้ว แต่ต้องการให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาขยายเป้าหมายการดำเนินโครงการไปถึงนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ด้วย หมายความว่าต้องการให้ตั้งเป้าหมายใหม่ โดยให้นักเรียนที่ขึ้นไปเรียนชั้น ป.4 ทุกคนจะต้องอ่านออกเขียนได้ หากจะต้องเพิ่มเติมอัตราครูภาษาไทยก็จะต้องดำเนินการต่อไป นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของการอ่านเพิ่มเติม ที่มิใช่อ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่นักเรียนจะต้องอ่านเข้าใจด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องตั้งรับให้ดี
7) ทวิภาคี ทวิศึกษา
8) อาชีวศึกษาเป็นเลิศ กล่าวรวมในสองประเด็นข้างต้น เพื่อต้องการให้ช่วยเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาในแต่ละจังหวัด เพราะประเทศกำลังต้องการกำลังคนด้านอาชีวะจำนวนมาก ดังนั้น ขอฝาก ผอ.สพป.ในฐานะศึกษาธิการจังหวัด ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเลือกเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสมดุลของผู้เรียนระหว่างสถานศึกษาของอาชีวะและโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐ ที่จะไม่ทำให้เกิดการแย่งผู้เรียนกัน รวมทั้งจะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดของโครงการอาชีวศึกษาเป็นเลิศให้มีความรู้ความเข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องในส่วนใด อย่างไร
9) มหาวิทยาลัยอุดมศึกษาพี่เลี้ยง เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมามีนโยบายจากส่วนกลางไปแล้ว แต่พบว่ามีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในบางจังหวัดเท่านั้น เช่น ขอนแก่น เชียงราย จึงขอให้ ผอ.สพป. ได้หารือในเรื่องนี้กับผู้แทนของอุดมศึกษาที่อยู่ใน กศจ.ด้วย โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็จะหารือกับ สกอ. เพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานของที่จะไม่เป็นการข้ามเส้นหรือก้าวก่ายหน้าที่กัน
10) โครงการประชารัฐ ขอให้ ผอ.สพป.ติดตามการดำเนินงานของคณะทำงานประชารัฐในด้านการศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงด้วย
11) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารในสถานศึกษา ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากภาครัฐและภาคเอกชนถึงจุดหักเหในเรื่องของคุณภาพการศึกษาว่าอยู่ที่ผู้อำนวยการโรงเรียน จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการในสถานศึกษาให้ดีขึ้นหลายส่วน อาทิ มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) จัดทำแนวทางการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้อำนวยการสถานศึกษา, การนำผลการทดสอบ O-Net มาใช้พัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชี้ให้เห็นวิชาที่เป็นจุดอ่อนในแต่ละโรงเรียน, เด็กชั้นใดอ่อนวิชาอะไร, ผลการจัดการเรียนการสอนของครูแต่ละคน เป็นต้น
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 23 มีนาคม 2559