ครม.ไฟเขียวโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อผู้มีรายได้น้อย ธอส.-ออมสิน-กรุงไทย ผนึกกำลังปล่อยสินเชื่อ
วันที่ 22 มีนาคม เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อสนับสนุนประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอนหรืออาชีพอิสระที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูงมาก และเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม
โดยทางกระทรวงได้ร่วมมือกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนทั้งสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้พัฒนาโครงการและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับประชาชนกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองหรือซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย
โดยมีข้อกำหนดว่าที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านประชารัฐจะต้องเป็นที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งสร้างบนที่ดินของตนเอง โครงการของเอกชน หรือโครงการที่สร้างบนที่ดินของรัฐ ซึ่งครอบคลุมที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งเอ็นพีเอของกรมบังคับคดี รวมถึงการซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย ระยะเวลาโครงการฯ 2 ปี ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
สำหรับมาตรการสินเชื่อ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ธอส. ธนาคารออมสินและกรุงไทย ร่วมกันจัดวงเงินสินเชื่อประมาณ 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้เอกชนผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการเคหะแห่งชาติเข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธอส.และธนาคารออมสิน จัดทำโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 40,000 ล้านบาท ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 30 ปี
โดยการผ่อนปรนจะมีการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษสำหรับกรณีวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อ เช่าซื้อ ก่อสร้าง ราคาไม่เกิน 700,000 บาทต่อหน่วย และวงเงินสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อหน่วย และอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับกรณีวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อ เช่าซื้อ ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ราคามากกว่า 700,000 บาท แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย
ด้านภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ จะต้องรับภาระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 2 ของราคาที่อยู่อาศัย และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองร้อยละ 1 ของมูลค่าจำนอง ระยะเวลา 2 ปี และรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางปีที่ 1 เเละให้ส่วนลดพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 จากราคาขายสุทธิหลังหักส่วนลดปกติ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการประชารัฐจะมีประชาชนได้รับผลประโยชน์ราว 40,000-50,000 ราย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 22 มีนาคม 2559