รื้อแนวทางผลิตครู "กำจร" เผยกำลังศึกษาสิงคโปร์เป็นต้นแบบ มีสถาบันสอนเพียงแห่งเดียว และประสานงานกับรัฐบาลใกล้ชิด เบื้องต้นให้ สกอ.มอบ สกอ.หาปัจจัยสร้างครูดี-เก่ง เพิ่มคุณภาพของศึกษาประเทศ และเตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบโครงการผลิตครูป้อนให้ท้องถิ่น จบแล้วต้องทำงานในภูมิลำเนาเดิม
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า เนื่องจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ และพบว่าการผลิตครูของประเทศสิงคโปร์ ผลิตโดยสถาบันครุศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ National Institute of Education (NIE) เพียงแห่งเดียว ซึ่งสถาบันดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสถาบันผลิตครูนักวิจัย (Teacher Researcher) มีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทางการศึกษา โดย NIE จะทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายจนถึงการปฏิบัติในโรงเรียนร่วมกัน ทำวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพแก่ภาครัฐ ผ่านการจัดสัมมนานานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดส่งผลการผลิตครูของสิงคโปร์มีมาตรฐานการผลิตครูได้ค่อนข้างดีและมีคุณภาพ นอกจากนี้ NIE ยังทำการบรรจุครูก่อนที่จะเริ่มเรียนในสถาบัน ทำให้ผู้เรียนมั่นใจได้เลยว่าจบแล้วมีงานทำ ทั้งนี้ประเทศไทยจะเข้าระบบดังกล่าวนี้ได้ในโครงการสร้างครูสู่ท้องถิ่น (โครงการคุรุทายาทเดิม) ที่กำลังพัฒนาอยู่ขณะนี้
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันปัญหาการผลิตครูของประเทศไทยมีอยู่หลายเรื่อง อีกทั้งหน่วยงานที่ผลิตครูก็มีอยู่กว่า 60 แห่ง ผลิตครูออกมาแต่ละปีจำนวน 50,000-60,000 คน ดังนั้น รมว.ศธ.จึงต้องการดูมาตรฐานกลางที่ใช้ในการผลิตครู เพื่อให้กำหนดมาตรฐานการผลิตครูไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถได้ครูที่ตรงกับความต้องการของประเทศ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปหาปัจจัยที่สร้างครูเก่ง ครูดี ที่สามารถจะเพิ่มคุณภาพการศึกษา มานำเสนอว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งปัจจัยหลักๆ ก็คือหลักสูตรการผลิตครู กระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกระบวนการเดิมมีข้อถกเถียงกันว่า การเรียน 4 ปี ฝึกงาน 1 ปี เหมาะสมหรือไม่กับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม โครงการผลิตครูเพื่อท้องถิ่นจะเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่ก็จะมีเงื่อนไขที่สังคมรับได้ด้วย เช่น จะต้องเป็นคนในท้องถิ่น เมื่อจบแล้วจะต้องไปทำงานในภูมิลำเนาที่มีตำแหน่งบรรจุไว้แล้ว และต้องทำงานครบตามสัญญาที่กำหนด ซึ่งโครงการดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 21 มีนาคม 2559