ข้อมูลจากข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 131/2559
หารือแนวทางการยกระดับคุณภาพวิชาชีพกำลังคนอาชีวศึกษา
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือแนวทางการยกระดับคุณภาพวิชาชีพกำลังคนอาชีวศึกษา ร่วมกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายจีรเดช อู่สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ผู้แทนภาคเอกชน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2559 ที่ห้องประชุม MOC โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมหารือในครั้งนี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนรวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังคนอาชีวะในแต่ละสาขาและแต่ละระดับการศึกษา เพื่อให้ สอศ.นำมาวางแผนผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ขณะนี้ทั้ง 3 สภาฯ ได้จัดทำกรอบข้อมูลความต้องการในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2558-2562) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย
1) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความต้องการรวม 3,540,000 คน
2) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความต้องการรวม 1,238,597 คน
3) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีความต้องการรวม 648,000 คน
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลนี้จะยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่ก็สามารถนำมาใช้วางแผนผลิตคน ซึ่งทำให้กระทรวงศึกษาธิการมองเห็นทิศทางความต้องการในอนาคต พร้อมทั้งจะเสนอต่อคณะทำงานประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เฉพาะความต้องการกำลังคนในปี 2559 กว่า 9.5 แสนคน (แบ่งเป็นหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 609,000 คน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 221,588 คน, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 120,000 คน) ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน สอศ.ยังผลิตได้เพียง 430,000 คนเท่านั้น ยังขาดอีก 520,000 คน ดังนั้นจึงได้เตรียมแนวทางเพื่อเร่งผลิตคนให้ตรงกับความต้องการเพิ่มขึ้น ใน 3 ส่วน คือ 1) การวางแผนเร่งผลิตคนในสาขาวิชาเดิมให้เพียงพอกับความต้องการ 2) การเปิดสาขาวิชาใหม่เพื่อรองรับความต้องการของสถานประกอบการ 3) การฝึกอบรมส่งเสริมวิชาชีพและทักษะการทำงานให้กับคนที่จบปริญญาตรี เพื่อเพิ่มกำลังคนด้านอาชีวะอีกทางหนึ่ง
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า นอกจากการประชุมหารือดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ประกอบการที่ร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ร่วมกับผู้แทนจากสถานประกอบการที่จัดการศึกษาทวิภาคี, ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องของขั้นตอนและวิธีการลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เอกชนมาร่วมจัดการศึกษาทวิภาคีมากขึ้น
ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการได้มอบให้ สอศ. ไปหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อลดภาระงานด้านเอกสารและเร่งดำเนินการยกเว้นภาษีให้รวดเร็วขึ้นด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และได้ฝากโจทย์ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาถึงการปรับกระบวนการยื่นเอกสารตามข้อเสนอของสถานประกอบการ เช่น เอกสารหลักสูตรการฝึกอบรม ขอให้ส่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องส่งทุกปี, ความเป็นไปได้ที่จะให้ สอศ.เป็นผู้รับรองหลักสูตร, การส่งรายชื่อเด็กพร้อมประวัติภายหลังเข้าฝึกแล้วเป็นเวลา 30 วัน, การเพิ่มจุดบริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สถานประกอบการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานด้วย
ในส่วนของ สอศ.จะต้องดำเนินการปรับปรุงแผนการฝึกอบรมให้สามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มการอบรมครูฝึกสถานประกอบการหลักสูตร 30 ชั่วโมงให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,000 คนต่อปี เพราะหากไม่ผ่านการฝึกหลักสูตรนี้ ก็จะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ สำหรับกรมสรรพากรมีความยินดีและพร้อมที่จะให้บริการ โดยขอให้มีเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ย้ำให้กรมสรรพากรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และขอให้ช่วยสร้างความเข้าใจกับบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วยว่า เมื่อภาคเอกชนมาช่วยรัฐบาลและมาช่วยอาชีวะ ฉะนั้นต้องอำนวยความสะดวกในการลดหย่อนภาษี เพราะควรถือว่าไม่ใช่การลดหย่อนภาษีแบบทั่วไป แต่เป็นการลดหย่อนภาษีจากการช่วยเหลืออาชีวศึกษาของประเทศ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ข่าวสำนักงนรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 19 มีนาคม 2559