ดาว์พงษ์ไม่หวั่นเปิดโอกาสให้บัณฑิตสายวิศวะและสายวิทย์มาเป็นครูจะทำให้เด็กมาเรียนครูน้อยลง ชี้เป็นข้อดีที่ทำให้คนรู้จริงในวิชาเฉพาะทางมาสอนเด็กได้ ด้านเลขาฯ คุรุสภาเผยเวลาสอบมีวิชาสอน ทำให้ผู้จบนอกสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เสียเปรียบอยู่แล้ว ถือว่ายุติธรรม ไม่ได้โอ๋ใคร
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ข้อเสนอของ ศธ.ที่จะให้ผู้ที่จบในสาขาอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลักสูตร 4 ปี มาสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ด้วยนั้น ตนเห็นด้วย เพราะคนที่จบสายตรงมาจะรู้ลึกกว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดกว้าง ซึ่งผู้ที่จบจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก็ต้องเข้าใจ ยิ่งในโลกยุคใหม่จำเป็นที่ต้องมีคนที่เข้าใจและรู้เรื่องเฉพาะนั้นๆ มาสอนเด็ก และคนกลุ่มนี้สามารถเพิ่มเติมความรู้ด้านการเป็นครูให้เขาในภายหลัง
"ครูที่จบมาจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่เรียนเอกวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ว่าไม่เก่ง แต่แน่นอนว่าจะต้องเรียนวิทยาศาสตร์ในหน่วยกิตที่น้อยกว่าผู้ที่จบมาจากคณะวิทยาศาสตร์โดยตรง นอกจากนี้ผู้ที่มาเป็นครูทุกคนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดังนั้นตนจะไปดูวิธีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป" รมว.ศธ.กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข้อทักท้วงว่า หากเปิดให้ผู้ที่เรียนในสาขาอื่นมาสอบบรรจุเป็นครูได้ จะทำให้นักเรียนเลือกเรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์น้อยลง เพราะใช้เวลาเรียนนานถึง 5 ปี และต่อเรียนจบอะไรมาก็เป็นครูได้นั้น พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่เป็นไร เพราะคนมีความรู้สามารถเป็นครูได้หมด แต่ขอให้มีวิชาที่จะถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียน เข้าใจลักษณะนิสัยเด็กให้ง่ายต่อการจัดรูปแบบการสอน ซึ่งฝึกกันได้ แต่อย่างก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้เรียนครูมาก็ต้องไปผ่านการอบรมวิชาชีพครูอยู่ดี ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการอบรมตามข้อกำหนดเหมือนกัน
ด้านนายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รองปลัด ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ คุรุสภา และโฆษก ศธ. กล่าวว่า แนวคิดที่จะเปิดให้บัณฑิตสายวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาเป็นครูนั้น ไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์แต่อย่างใด เนื่องจากทุกคนต้องผ่านกระบวนการสอบเหมือนบัณฑิตสายครูทุกขั้นตอน ซึ่งจริงๆ แล้วบัณฑิตสาขาวิชาอื่นจะแพ้บัณฑิตสายครูในการสอบภาค ข. วิชาชีพครูด้วย ฉะนั้นแนวคิดนี้จึงถือว่ายุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ อยากให้มองถึงความจำเป็นของประเทศด้วย เฉพาะโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะนี้ขาดแคลนครูคณิตศาสตร์กว่า 5 พันอัตรา
ส่วนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าจำนวนบัณฑิตสาขาดังกล่าวมีจำนวนมาก ไม่ได้ขาดแคลน แต่ต้นสังกัดไม่ยอมเปิดอัตราสอบบรรจุเองนั้น จริงๆ เราไม่ได้กีดกันสาขาอื่นเลย ในทางกลับกัน ยินดีด้วยซ้ำหากสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูได้ ฉะนั้นคงต้องกลับไปดูด้วยว่า เมื่อเปิดสอบแข่งขันแล้วสอบได้หรือไม่ ที่ผ่านมาผู้ที่จบครูก็สามารถสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้าเป็นครูผู้ช่วยได้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เพียงแต่รอบนี้เราจะเปิดให้คนใน 3 สาขาขาดแคลนมีโอกาสเข้ามาสอบแข่งขันด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเสียเปรียบเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่ได้เรียนวิชาครูมาก่อน
"ดังนั้นคงต้องย้อนถามกลับไปว่า แล้วมหาวิทยาลัยกล้าเปิดวิชาครูให้คนกลุ่มนี้มาเรียนด้วยหรือไม่ และผมก็ยังไม่แน่ใจว่า เมื่อเปิดโอกาสให้แล้วจะมีคนมาสมัครเป็นครูมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อเป็นความต้องการของโรงเรียนเราก็ต้องเปิดสอบให้" นายชัยยศกล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 18 มีนาคม 2559