รมว.ศธ.หารือกับ สปท.เพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านบริหารจัดการการกีฬา
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก ร่วมหารือแนวทางการบูรณาการแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการกีฬา กับคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านบริหารจัดการการกีฬา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นำโดย พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานอนุกรรมาธิการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ
พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อต้องการร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านบริหารจัดการการกีฬา ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้จัดทำไว้แล้วประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 37 แนวทาง 100 โครงการ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี 9 โครงการที่เกี่ยวข้องตามแผนการปฏิรูปการกีฬาและต้องรับเป็นหน่วยปฏิบัติ จึงได้มีการมาหารือร่วมกันในครั้งนี้ว่าเรื่องใดที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถดำเนินการได้ หรือเรื่องใดที่ดำเนินการไม่ได้ ก็จะได้มอบกลับไปให้ สปท.พิจารณาทบทวนและนำกลับเสนอเข้ามาใหม่
9 โครงการตามแผนปฏิรูปการกีฬา ซึ่ง สปท.ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมดำเนินการ
1) โครงการรณรงค์และขอความร่วมมือการจัดเวลาออกกำลังกายทุกวันในทุกหน่วยงาน ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ ศธ.ร่วมจัดทำ MoU ในการออกกำลังกายในเวลาเช้าก่อนเข้าชั้นเรียนและหลังเลิกเรียน รวมทั้งขอความร่วมมือให้จัดวิชาพลศึกษาสัปดาห์ละ 2 คาบ
2) โครงการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายและการแข่งขันกีฬาทั้งภายในและระหว่างองค์กร โดยขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปในทุกระดับการศึกษา
3) โครงการทดสอบสมรรถภาพทางกาย โดยขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปในทุกระดับการศึกษา
4) โครงการพัฒนาการจัดการพลศึกษาในโรงเรียน โดยขอให้ สพฐ.กำหนดสัดส่วนการบรรจุครูที่มีวุฒิทางกีฬาหรือพลศึกษาในโรงเรียน รวมทั้งให้สถาบันอุดมศึกษาจัดอบรมครูให้มีวุฒิบัตรด้านพลศึกษา ซึ่งในประเด็นนี้ สพฐ. ชี้แจงว่ายังขาดแคลนครูพลศึกษากว่า 1,732 คน ส่วนความต้องการของจำนวนครูพลศึกษาที่จบตรงวุฒินั้น สพฐ. จะสำรวจจำนวนที่แน่นอนเพื่อนำเสนอต่อไป
5) โครงการจัดวางระบบโครงข่ายในสถานศึกษาและชุมชน ซึ่งได้ขอความร่วมมือการสนับสนุนโครงข่ายของสถานศึกษาและชุมชนในการให้ความรู้ทางกีฬา โดยขอให้ใช้สนามกีฬาของโรงเรียนและสถานกีฬาในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อจัดกิจกรรมกีฬาของชุมชนอย่างต่อเนื่อง
6) โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการกีฬา โดยขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปในทุกระดับการศึกษา เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตร์-กีฬา ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นต้นแบบ
7) โครงการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและการดูแลรักษาสถานกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งขอให้ทุกหน่วยงานใน ศธ.วางแผนการจัดกิจกรรมหรือโครงการดำเนินการ ที่จะช่วยสร้างความตระหนักและความรู้สึกเป็นเจ้าของและการดูแลรักษาสถานกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นรูปธรรม
8) โครงการพัฒนากิจการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ระดับนานาชาติ ต้องการให้ ศธ. ซึ่งมีจำนวนลูกเสือทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน ได้ร่วมจัดการประชุมลูกเสือระดับทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเรียกเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์เครื่องหมายลูกเสือเพื่อนำเงินรายได้เข้าสู่กิจการลูกเสือไทย
9) โครงการพัฒนาด้านภาษาและหลักการกีฬา โดยขอให้พิจารณาจัดทำหลักสูตรด้านภาษาและหลักการกีฬาเพื่อการติดต่อสื่อสาร เช่น หลักสูตรระยะสั้น ที่ร่วมมือจัดทำกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นอกจากนี้ สปท.ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแนวทางการเปิดเพลง "กราวกีฬา" ในเวลาเช้าทั้งก่อนและหลังเคารพธงชาติ
เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เด็กนักเรียนมีความตระหนักในการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา รวมทั้งเพื่อพัฒนาจิตใจให้มีน้ำใจนักกีฬา เพื่อพัฒนาเป็นประชาชนที่มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นตรงกันทั้ง 9 โครงการ ซึ่งทุกโครงการนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการไว้บ้างแล้ว แต่จะต้องปรับปรุงกิจกรรมทุกโครงการให้เข้มข้น นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และตรงกับวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการที่จะดำเนินการไปพร้อมๆ กัน
เช่น การขาดแคลนอัตราครูพลศึกษา 1,732 คน ซึ่ง สพฐ.จำเป็นต้องใช้ครูที่จบวิชาอื่นมาช่วยสอน รวมทั้งจะจัดให้มีการอบรมครูที่ไม่ได้จบเอกพลศึกษาโดยตรง จึงจะขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้ามาช่วยอบรมในเรื่องนี้ ตลอดจนจะนำตัวเลขการขาดแคลนครูพลศึกษาทั้งหมดมาจัดทำแผน เพื่อให้เป็นแผนที่จับต้องได้และควบคุมได้
หรือตัวอย่างการจัดวางโครงข่ายของสถานศึกษาโดยใช้สนามกีฬาของโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกระดับนั้น เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ไม่ยาก เพราะแต่ละโรงเรียนมีคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งตัวแทนมาจากชุมชนท้องถิ่น แต่จะต้องจัดระเบียบการอนุญาตให้ชุมชนเข้ามาใช้สนามกีฬาเพื่อกิจกรรมกีฬาได้อย่างเต็มที่
ส่วนข้อเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเปิดเพลงกราวกีฬาในสถานศึกษานั้น จะรับไปพิจารณาก่อน ซึ่งความจริงอาจมีเพลงอื่นๆ ที่กระตุ้นหรือตอบโจทย์ในเรื่องการปลูกจิตสำนึกให้เด็กนักเรียนมีความตระหนักในการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาได้ดี หรือการพิจารณาเรียบเรียงเพลงให้มีดนตรีที่มีความทันสมัยมากขึ้น
นอกจากนี้ ได้ฝากให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาการสนับสนุนความเป็นเลิศด้านกีฬาของมหาวิทยาลัย เพื่อต้องการให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเป็นเลิศในแต่ละประเภทกีฬาที่แตกต่างกัน
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 17 มีนาคม 2559