พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันพุธที่ 16 มีนาคม 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการยกระดับนโยบายอ่านออกเขียนได้ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยตั้งเป้าหมายให้นักเรียนชั้น ป.1 จะต้องอ่านออกเขียนได้ 100% นั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้รายงานความก้าวหน้าโครงการในที่ประชุมรับทราบว่า สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย โดยใช้แนวทางการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ อาทิ การสอนแบบแจกลูกสะกดคำ การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการสมอง (BBL) ทำให้สามารถแก้ไขปัญหานักเรียนชั้น ป.1 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในภาคเรียนที่ 1 จำนวน 7.37% ลดลงอย่างชัดเจนในเดือนมกราคม 2559 อีกทั้งยังส่งผลเชิงบวกในการอ่านด้วย
ดังนั้น ในปีการศึกษา 2559 จึงได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มระดับการพัฒนาเด็ก นอกจากจะต้องอ่านออกเขียนได้แล้ว ต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านด้วย โดยมอบให้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หารือร่วมกับสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมแผนงานพัฒนาและยกระดับการอ่านของเด็กไทยต่อไป
ในส่วนการอ่านหนังสือของคนไทย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า คนไทย 1 ใน 3 คน อ่านหนังสือน้อยกว่า 30 นาทีต่อวันนั้น ได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นำไปขยายผลการอ่านให้ประชาชนการอ่านหนังสือมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ กศน.ได้ดำเนินโครงการบรรณสัญจรอยู่แล้ว โดยตั้งเป้าที่จะนำหนังสือที่ได้รับบริจาคกว่า 1 ล้านเล่ม ไปไว้ให้ห้องสมุดอัจฉริยะและห้องสมุด กศน.ตำบล เพื่อให้ประชาชนได้อ่าน พร้อมมีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนประชาชนที่เข้ามาอ่านหนังสือ ประเภทหนังสือยอดนิยมและหนังสือน่าอ่านด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการวัดสมรรถนะภาษาไทยของเด็กไทย ทั้งการพูด อ่าน และเขียนด้วย ซึ่งได้มอบปลัดกระทรวงศึกษาธิการหารือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาฯ (สทศ.) เกี่ยวกับกระบวนการจัดทดสอบสมรรถนะภาษาไทยของเด็กไทยในอนาคต โดยใช้ต้นแบบของสถาบันภาษาไทยสิรินธรฯ ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปี ทั้งในการวางแผนทดสอบความสามารถด้านภาษาไทยของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นและการทดสอบความเข้าใจในเนื้อหา
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 5 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย” นั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าต้องจัดการศึกษาเป็นเวลาเท่าไร กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดทำข้อพิจารณาเสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องอุดหนุนการศึกษากี่ปีและอุดหนุนอะไรบ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องมาตีความกันอีก
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 16 มีนาคม 2559