คอลัมน์ ASEAN
หนี้การศึกษา
โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์ porpui23@gmail.com
การศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ
เชื่อว่าทุกท่านก็คงเห็นตรงกันครับ จริงๆ ไม่ใช่แค่ทุกท่าน ทุกประเทศในอาเซียนเองก็คงเล็งเห็นตรงกัน จึงพยายามพัฒนาคุณภาพการศึกษาของตัวเอง
รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้แก่ประชาชนคนในชาติ เช่น การให้เงินกู้ยืมทางการศึกษา หรือการให้ทุนการศึกษาประเภทต้องใช้ทุนคืน
ด้วยความมุ่งหวังว่า พอประชาชนเหล่านั้นเรียนจบไป ก็จะกลายมาเป็นกำลังหลักเข้ามาช่วยพัฒนาชาติในด้านต่างๆ พูดง่ายๆ คือ หวังว่าจะมีผลตอบแทนที่ดีกลับสู่ประเทศ
แต่แล้ว... ฝันนั้นก็สลายไปในพริบตา เมื่อมีคนหนึ่งเดินเข้ามาจับมือเธอแล้วเดินจากไป (โดยยังไม่ใช้หนี้)
รายการหนีหนี้ เป็นรายการที่พบปัญหากันหนักหน่วงในอาเซียนครับ แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ เวลาไปสัมมนาเรื่องประชาคมอาเซียน เพราะคนส่วนใหญ่เลือกที่จะพูดแค่ “ความสำคัญของการศึกษา” ไม่ค่อยพูดถึง “ปัญหาหลังให้ความสำคัญกับการศึกษา”
ก่อนหน้านี้ เรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ในบ้านเรา คือ กรณีสตรีท่านหนึ่งได้ทุนไปเรียนต่อ และได้แฟนที่ต่างประเทศ จึงไม่เดินทางกลับประเทศไทย และแน่นอนว่ารายการ “เหนียวหนี้” ไม่ใช้ทุนคืนก็มา
จริงๆ ต้องบอกว่า มีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ คือ ไปต่างประเทศ แล้วก็ปล่อยให้หนี้เป็นภาระของรัฐหรือภาระของผู้ค้ำประกันแทน
สังเกตได้ว่า ในเว็บไซต์พันทิปก็จะมีคนมาถามเรื่องการไม่ไปศาล การผิดนัดจ่ายหนี้ การเดินทางเข้าออกประเทศ กรณียังติดหนี้ทางการศึกษา เช่น หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อยู่เป็นพักๆ
โดยไม่ได้แสดงท่าทีรู้สึกผิดเท่าไหร่ว่า การไม่จ่ายหนี้เป็นเรื่องผิด
ล่าสุด สำนักข่าวกัวลาลัมเปอร์โพสต์ ของมาเลเซีย รายงานว่า กระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียขึ้นบัญชีดำบุคคลผู้เบี้ยวหนี้ทางการศึกษากว่า 1.18 แสนคน ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ
เหตุการณ์นี้น่าจะกลับมาเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นในอาเซียน รวมถึงไทยได้ครับ ที่ผ่านมาคดีหนี้ทางการศึกษาถือเป็นคดีแพ่ง ปกติไม่มีการถึงขั้นห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
แต่ในเมื่อกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า การศึกษาอาจไม่สามารถช่วยให้บุคคลบางกลุ่มมีจิตสำนึกขึ้นมาได้ ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิมสำหรับผู้เบี้ยวหนี้
อย่าลืมนะครับว่า ในการสำรวจผู้ยังไม่ชำระหนี้ กยศ. มีผลสำรวจหนึ่งที่น่าตกใจมาก มีการสอนต่อรุ่นต่อรุ่นว่า “ไม่ต้องชำระหนี้ก็ได้”
รัฐบาลของทุกประเทศในอาเซียนต้องหันมาตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้นครับ หาทางแก้ร่วมกันยิ่งดี เพราะการที่เราให้ทุนเพื่อช่วยให้คนฉลาดขึ้น หวังว่าคนจะกลับมาพัฒนาประเทศ แต่สุดท้ายไม่กลับมา
ไม่ใช่เพียงเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า แต่เป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดหนี้เสีย และเสียโอกาสนำเงินก้อนนั้นไปพัฒนาเรื่องอื่น
อย่างน้อยๆ การคัดกรองคนที่เข้ามากู้ยืม การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ การมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นในสัญญากู้ยืม เป็นเรื่องจำเป็นครับ
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 มีนาคม 2559