โดย...มูลนิธิสยามกัมมาจล
จากการประกาศผลการสอบการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต 9 วิชาสามัญ ที่จัดขึ้นโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ในแต่ละวิชานักเรียนสอบได้คะแนนต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 คะแนน
อย่างไรก็ตาม มีเพียงวิชาภาษาไทยที่ได้คะแนนเกินครึ่งเพียงวิชาเดียว โดยได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.65 คะแนน จึงเป็นหัวที่มีข้อถกเถียงและยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ไม่ตก
ฟากหนึ่งสะท้อนภาพการออกข้อสอบที่อาจไม่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษา อีกฟากหนึ่งสะท้อนภาพการวิเคราะห์ไปถึงตัวหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน
ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันหาทางออกว่า การออกข้อสอบนี้ควรมีการวัดผลกี่แบบ และกระบวนการวัดผลที่ทำอยู่ขณะนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่ ในระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบสุดท้าย
มูลนิธิสยามกัมมาจล มีข้อเสนอแนะจาก 2 โรงเรียนตัวอย่าง ได้แก่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และโรงเรียนอนุบาลสตูล จากโครงการภาคีพูนพลังครู ที่ได้จัดการเรียนการสอนแนวใหม่ ส่งผลให้เด็กนักเรียนสอบโอเน็ตได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่นๆ
กรณีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ จัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้ PBL (Problem Based Learning) เป็นหน่วยการเรียนแบบบูรณาการที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดทักษะอันหลากหลายที่จำเป็นสำหรับศตวรรษใหม่ (21st Century Skills)
ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และการเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทักษะการสังเคราะห์ข้อมูลและการจัดการความรู้ ทักษะชีวิต (ทำกินเป็น อยู่ได้ ใช้เป็น) อาทิ ทักษะ ICT การทำงานร่วมกัน การจัดการความขัดแย้ง การสื่อสาร การคิดหลายระดับ การสร้างปัจจัยการดำเนินชีวิต การดูแลสุขภาพ การแสวงหาข้อมูล
นอกจากนี้ รวมถึงการปรับตัว การออกแบบวิถีชีวิต อุปนิสัย การชี้นำตนเอง จิตสำนึกต่อคนอื่น วัฒนธรรมอื่นและต่อโลก และนำจิตศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านในความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ SQ และความฉลาดทางด้านอารมณ์ EQ อีกด้วย
ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แสดงความคิดเห็นต่อการสอบโอเน็ต และให้ข้อเสนอแนะการเรียนการสอนว่า ความต้องการของครูที่ต้องการ “เน้นเนื้อหา” และคิดว่าสามารถตอบโจทย์การทำข้อสอบโอเน็ตได้ ทำให้ครูต้องใช้ “วิธีติว” ให้เด็กจำเนื้อหาซึ่งไม่สามารถทำให้เด็กทำข้อสอบได้จริง
แต่ถ้าหากโรงเรียนอยากให้นักเรียนของตัวเองทำคะแนนโอเน็ตได้สูงขึ้น ก็ต้องเริ่มที่กระบวนการเรียนการสอนที่ฝึกฝนเด็ก ซึ่งทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้จัดกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้ทุกๆ วัน คือ การฝึกกระบวนการคิด การแก้ปัญหา ฝึกกระบวนการ Reflection (การสะท้อนกลับ) เด็กที่โรงเรียนก็จะคิดเอง ใคร่ครวญเอง และรู้จักวิธีการแก้ปัญหาได้เอง ผลที่เกิดขึ้นทำให้เด็กนักเรียนของเรามีผลคะแนนอยู่ในระดับสูงมากทุกๆ ปี
เช่นเดียวกับที่โรงเรียนอนุบาลสตูล จ.สตูล ซึ่งเป็นโรงเรียน 1 ในจำนวน 500 แห่ง ที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2553 ในฐานะโรงเรียนมาตรฐานสากล โดย สุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า โรงเรียนอนุบาลสตูลได้ปรับโครงสร้างเวลาเรียน โดยการเพิ่มเวลาเรียน 5 ชั่วโมง/สัปดาห์ สำหรับเรียนรู้แบบโครงงาน การเขียนความเรียงขั้นสูง การเรียนไปสู่ความเป็นพลโลก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ถือว่าสอดรับกับการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research Based Learning) ทำให้เห็นพัฒนาการของเด็กอย่างเห็นได้ชัด กระบวนการเหล่านี้ถ้าทำให้เด็กได้รู้จักตัวตน ได้เครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ เด็กจะไปแสวงหาความรู้อะไรก็ได้
ผลการปรับโครงสร้างการเรียนการสอนดังกล่าว ทำให้ผลคะแนนโอเน็ตดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละปีมีเด็กนักเรียนที่ได้คะแนนเต็มร้อยจำนวนหลายคน และในจำนวนนี้มีนักเรียนที่สอบได้ที่ 1 ของประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะเด็กเรียนวิทยาศาสตร์มีสถิติที่เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นผลจากที่เด็กต้องนำเสนองาน ทำรายงาน และเก็บเกี่ยวความรู้ด้วยตัวเอง
โรงเรียนอนุบาลสตูล เชื่อว่ารูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะนี้จะตกผลึกในตัวเด็ก ถ้าทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไปทุกๆ ปี
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของโรงเรียนที่ปรับการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปให้เท่าทันสถานการณ์โลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นการใช้วิธีการรับมือที่แยบยล และท้ายที่สุดผลประโยชน์สูงสุดกลับคืนสู่ลูกศิษย์นั่นเอง
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 มีนาคม 2559