ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะเปิดให้ผู้ที่จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยได้เช่นเดียวกับคนที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา ว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะนิสิตนักศึกษาที่เรียนในแต่ละคณะจะมีเป้าหมายว่าจะไปทำงานอะไร และปรัชญาการเรียนการสอนของแต่ละคณะก็แตกต่างกัน เช่น เรียนวิศวะ เพื่อเป็นนักวิศวกร เรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ ขณะที่เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก็ เพื่อเป็นครูหรือทำงานสร้างคน เป็นต้น อีกทั้งการเรียนในแต่ละคณะจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้เฉพาะทาง ถ้าจะเปิดให้เด็กที่ไม่เรียนครูมาสอบบรรจุครูเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนนั้นจะสามารถถ่ายทอดความรู้ สอนเป็น เข้าใจกระบวนการเรียนการสอน การติดตามและประเมินผล
"ถ้า ศธ.ต้องการที่จะผลิตครู เพื่อสอนสะเต็มศึกษาจริง ๆ ผมคิดว่าน่าจะไปพัฒนาครู หรือ ปรับหลักสูตรการเรียนสอนของเด็กที่เรียนในสายครูจะดีกว่า ผมมองว่า ตอนนี้ ศธ.กำลังเข้าใจผิดทางการศึกษาและหลงทาง แถมยังเห่อเรื่องสะเต็มศึกษา ขณะที่คนทำงานก็สนองนโยบายโดยไม่ลืมหูลืมตา ไม่ดูหลักการการจัดการศึกษา" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามจากข้อเสนอที่จะเปิดช่องให้คนที่ไม่จบสายครูมาเป็นครู โดยเฉพาะคนที่จบวิศวกรรมศาสตร์ วิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีมาสอบเป็นครู ได้ทำให้คนทั่วไปมองคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในทางลบ โดยเฉพาะเรื่องของเนื้อหาการเรียนการสอนว่า ยังอ่อนแออยู่ วิชาชีพไม่แข็งแรง ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่ได้มาก็ง่าย ดังนั้น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก็ต้องกลับมาทบ ทวนตัวเองด้วยว่า การเรียนการสอนเป็นอย่างไร ไม่ใช่ออกมาค้านอย่างเดียว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์