คณบดีครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ มหา'ลัยดัง จี้ ศธ.ทบทวนเปิดช่องเด็กวิศวะ-วิทย์สอบแข่งเป็นครู เชื่อเก่งแต่ศาสตร์ของตัวเอง ไม่รู้จักวิธีสอน ขอให้มั่นใจบัณฑิตครูรุ่นใหม่สอนสะเต็มศึกษาได้ชัวร์
วันนี้ (14 มี.ค.) รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเปิดให้ผู้ที่จบปริญญาตรีสายวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สามารถเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยได้เช่นเดียวกับผู้ที่จบด้านศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ว่า ตนมองว่าผู้ที่จบวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ไม่ได้เก่งไปกว่าผู้ที่จบครูของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งดูได้จากคะแนนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กสายครูมีคะแนนแอดมิชชั่นสูงมาก และมีเด็กวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์หลายคนที่คะแนนต่ำกว่าเด็กสายครู นอกจากนี้ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเด็กเหล่านี้ก็ไม่ได้สอบวัดความถนัดทางวิชาชีพครู หรือ แพต 5 เมื่อเป็นเช่นนี้จะประกันคุณภาพได้อย่างไรว่าจะมาเป็นครูที่ดี
“นักศึกษาครูต้องเรียน 5 ปี และทุกคนจะรู้ว่าแนวทางการสอนสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ว่าเป็นอย่างไร ผิดกับผู้ที่จบวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีแค่ความรู้ในศาสตร์ตนเองเท่านั้น ไม่รู้จักวิธีการสอน นอกจากนี้นักศึกษาครูต้องเรียน 10 มาตรฐานวิชาชีพ ได้เรียนรู้วิธีการสอน การวัดประเมินผล การทำสื่อ จรรยาบรรณความเป็นครู รวมทั้งต้องฝึกสอนก่อนจบการศึกษาด้วย แต่เด็กวิศวะ และวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ฝึกสอนเลย อยู่ดีๆ จะให้เป็นครูได้อย่างไร จึงอยากให้ ศธ.ทบทวนเรื่องนี้”รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.กิติเดช สันติชัยอนันต์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การเปิดให้ผู้ที่จบสายวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ มาเป็นครูได้นั้น จะช่วยเติมเต็มการสอนสะเต็มศึกษาได้ 10-20% ซึ่งตนยังเชื่อมั่นว่าครูด้านวิทยาศาสตร์ที่ผลิตกันอยู่ในเวลานี้ มีความสามารถมากพอที่จะสอนสะเต็มศึกษาได้ นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่าผู้ที่จบวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หากต้องมาเป็นครูช่าง น่าจะไม่เหมาะสม เพราะหลักสูตรที่เด็กเหล่านี้เรียนมาเน้นการออกแบบ และการคำนวณ ขณะที่ครูช่างต้องเน้นปฏิบัติค่อนข้างมาก.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 14 มีนาคม 2559