ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ. ได้หารือร่วมกับ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ถึงนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่ได้บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆ เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และความรู้ด้านคณิตศาสตร์รวมเข้าด้วยกัน ให้แก่นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ แต่ขณะนี้พบว่า ศธ.ยังขาดแคลนครูที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาสอนในวิชาที่รองรับแนวคิดสะเต็มศึกษา
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบปริญญาตรีสายวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สามารถเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยได้เช่นเดียวกับผู้ที่จบทางด้านศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์
“ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการ ก.ค.ศ.ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกครู ส่วนคุรุสภาก็ปรับปรุงการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสำรวจความต้องการครูในแต่ละสถานศึกษา ทั้งนี้จะเร่งให้การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ทันการสอบครูผู้ช่วยในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อสอบบรรจุได้ระหว่างที่กำลังสอนอยู่จะมีการฝึกทักษะจิตวิทยาของความเป็นครู รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน และมีการทดสอบจากการปฏิบัติงานจริง หากภายใน 2 ปี ครูสามารถผ่าน 9 มาตรฐานวิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนด คุรุสภาก็จะออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ แต่หากไม่ผ่านก็สามารถต่อใบอนุญาตปฎิบัติการสอนชั่วคราวได้ 3 ครั้ง ขณะเดียวกันจะให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำรวจว่ามีการจัดการเรียนการสอนใน 3 สาขาวิชาดังกล่าวจำนวนเท่าใด รวมถึงผู้ที่กำลังจะจบภายในปีนี้ด้วย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการรับสมัครครูผู้ช่วยต่อไป”
ดร.ชัยยศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพูดถึงการปรับค่าตอบแทนของครูให้สูงขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งได้มาเป็นครูมากขึ้น แต่ก็มีผู้มองว่าปัจจุบันเงินเดือนครูบรรจุใหม่ ก็อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา
ต่อข้อถามว่า การคัดเลือกผู้เข้ามาเป็นครูผู้ช่วยจะเกิดช่องว่างหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่จบทั้ง 3สาขานี้หรือไม่ นายชัยยศ กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการออกข้อสอบ ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายไม่ให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน ไม่ใช่เปิดช่องให้ใครคนใดคนหนึ่งเข้ามา เพราะผู้ที่เรียนสายครูต่างก็ใช้ระยะเวลาเรียนมาหลายปี ดังนั้นจะต้องไม่ปิดโอกาสของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ที่มา โลกวันนี้ วันที่ 10 มีนาคม 2559