“ชาญณรงค์” ชี้จะชะลอการประเมินหรือไม่ต้องให้ผู้มีอำนาจตัดสิน วอนอย่าตื่นตระหนกกับทุกความเห็น ขอให้วิเคราะห์ให้ดี ระบุหากหยุดการประเมินใครจะคุ้มครองผู้บริโภค หวั่นทำไทยล้าหลังประเทศในอาเซียน
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จะเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชะลอการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ของ สมศ.ออกไปอีก 2 ปีว่า ตนเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย แต่การจะชะลอการประเมินหรือไม่นั้นคงต้องให้ผู้มีอำนาจเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งตนไม่อยากให้ตื่นตระหนก และคล้อยตามกับทุกความคิดเห็น อยากให้มีการพิจารณาและวิเคราะห์ให้ดีก่อนว่า การชะลอออกไปอีก 2 ปีนั้นจะเกิดประโยชน์ และทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นจริงหรือไม่
ผอ.สมศ. กล่าวต่อไปว่า หากไม่มีการตรวจประเมิน 2 ปี จะทำให้สถานศึกษาเกิดความผ่อนคลาย แต่จะขาดการกระตุ้น และขับเคลื่อนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าในระหว่างที่ชะลอการประเมินจะให้สถานศึกษาประกันคุณภาพการศึกษาภายในโดยสถานศึกษาเองไปก่อน แต่อยากถามว่าใครจะเป็นผู้รับรอง ทั้งนี้ปัจจุบันมีหลักสูตรเปิดสอนกันมากมายโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการรับรอง โดยเฉพาะหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาที่มีการใส่ชื่ออาจารย์แต่เมื่อไปตรวจสอบจริงกลับไม่พบอาจารย์คนนั้น ดังนั้นหากไม่มีการประเมินแล้วใครจะเข้าไปตรวจสอบ และใครจะคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ ซึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อก็คือผู้เรียน และผู้ปกครอง
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ผู้ใช้บัณฑิตก็จะเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกมา ขณะเดียวกันขณะนี้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว การประกันคุณภาพการศึกษาจะไม่ใช่แค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของระหว่างประเทศด้วย เพราะจะมีการเคลื่อนตัวของนักเรียน นักศึกษา โดยเวลานี้อยู่ระหว่างการทำเรื่องการถ่ายโอนหน่วยกิตข้ามประเทศร่วมกันอยู่ ดังนั้นหากให้ชะลอการประเมินออกไปอีก 2 ปี ไทยก็จะอยู่ล้าหลังประเทศในอาเซียน.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มีนาคม 2559