การกรอกข้อมูลใน มคอ 3 (งานกระดาษตามระบบประกันคุณภาพการศึกษา) ของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง จะมีอยู่ข้อหนึ่งในเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ในวิชาที่อาจารย์สอน มีการสอดแทรกเข้าไปหรือไม่ ประเด็นนี้ทำให้น่าคิด และเป็นคำถามที่อยากรู้คำตอบอย่างมากเหลือเกินก็คือ คุณธรรม จริยธรรม จะต้องรอมาสอนในชั้นอุดมศึกษา หรือควรสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา สำหรับการศึกษาไทย
แม้กรณีคุณหมอที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อในห้วงเวลาที่ผ่านมาจะเป็นผลผลิตของการศึกษาไทยในอดีตที่ยังไม่มี มคอ 3 ให้คณาจารย์ปวดหัวเล่น แต่ทุกคนก็น่าจะคิดเห็นตรงกันว่า คุณธรรมและจริยธรรมควรที่จะสร้างและปลูกฝัง และสอนให้กับเด็กหรือเยาวชนของชาติไทยมาตั้งแต่เด็กๆแล้วครับ
ระบบการศึกษาไทยที่คุณครูมีภารกิจที่มากกว่าการสอนหนังสือและการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับตนเองแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ยากที่คุณครูจะมาสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม การสอนคุณธรรม จริยธรรม จึงอาจปรากฏได้เพียงในวิชาพุทธศาสนา เฉกเช่นที่ตัวผู้เขียนเคยเรียนในสมัยเด็ก ซึ่งก็น่าจะเป็นยุคเดียวกับคุณหมอที่ปรากฏเป็นข่าวนะครับ
ไม่เว้นแม้กระทั่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา การสอนนักศึกษาให้ครบถ้วนตามคำอธิบายรายวิชา ประกอบกับการกำหนดพันธกิจการสอน ที่บางสถาบันให้ความใส่ใจกับจำนวนพันธกิจการสอนของอาจารย์ จึงทำให้อาจารย์ไม่มีเวลาเอาเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาสอดแทรกในบทเรียนให้สอดคล้องกับเนื้อหา เพราะต้องการสอนให้ครบตามเนื้อหาคำอธิบายรายวิชา อีกทั้งในบางสาขาวิชาก็ยากที่จะสอดแทรกเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมด้วยสิครับ
อันที่จริง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องสัญญาค้ำประกัน มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
คนค้ำประกันควรต้องรู้สภาพตนเองทางกฎหมายตั้งแต่ตอนลงนามในสัญญาค้ำประกันแล้วครับ ในบางหน่วยงาน เวลามีการทำสัญญากู้ยืมเงิน บางคนที่ไม่รู้จักกันดีแต่ยอมทำสัญญาค้ำประกันให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ก็ด้วยเหตุส่วนหนึ่งจากการแลกเปลี่ยนการค้ำประกันให้แก่กันและกัน หรือค้ำประกันไขว้กันนั่นเอง ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้ค้ำประกันอยากได้ประโยชน์เป็นการแลกเปลี่ยนอยู่แล้วจึงยอมค้ำ แต่พอถึงเวลามีปัญหาก็โวยวาย อย่างนี้จะบังคับบีบคอหอยเจ้าหนี้ว่าทำไมไม่ไปพยายามเอาจากลูกหนี้ที่อยู่ต่างประเทศให้ได้ก่อนก็คงพูดยาก หากกล่าวตามตรง เจ้าหนี้เขาเอาจากคนค้ำประกันมันก็ง่ายดีสำหรับเขา แล้วให้คนค้ำประกันไปไล่เบี้ยเอาเองจากลูกหนี้ไม่ดีกว่าหรือ
แต่ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็คือลูกหนี้คนต้นเรื่อง หรือคนสร้างปัญหานั่นแหละครับ ก่อหนี้ สร้างปัญหาไว้ ก็ควรต้องรับผิดชอบ จะรับแต่ชอบแต่ไม่รับผิดก็ไม่น่าจะได้นะครับ คำสอนของหลวงพ่อที่บอกว่า อย่าเห็นแก่ตัว การเห็นแก่ตัวจะเป็นทุกข์ จริงแท้แน่นอน สำหรับกรณีนี้ลูกหนี้บางคนหากคิดได้ก็จะหาหลักประกันด้วยทรัพย์ หรือยอมเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น เพื่อไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
ความเห็นแก่ตัว เห็นแต่ประโยชน์ตนเอง แม้บางคนจะแสดงออกโดยการให้คนอื่น ก็เป็นเพียงการสร้างภาพ ไม่ได้มาจากใจจริง ก็ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ท้ายที่สุด กฎหมายก็น่าจะเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการจัดการปัญหาคนเห็นแก่ตัวเหล่านี้นะครับ
“ปัญหาตนเอง อย่าเอาไปเป็นปัญหาคนอื่น” หากลูกหนี้รู้จักเอาใจผู้ค้ำประกันมาใส่ใจตนเอง ใจเขา ใจเรา ปัญหานักเรียนหนีทุนไม่เกิดแน่นอน ไม่ต้องรอใช้กฎหมายมาแก้ปัญหาหรอกครับ แก้ได้ทันทีที่คุณธรรม จริยธรรม ที่มีอยู่ในใจลูกหนี้ ถามตัวคุณเองว่า ต้องมาจ่ายหนี้แทนคนอื่นเป็นจำนวนเกินล้านบาท เป็นคุณ คุณ Ok หรือยอมไหม อย่าตอบเป็นแบบให้ตัวเองดูดีนะ เชื่อว่าทุกคนที่อ่านบทความนี้ ก็น่าจะมีคำตอบแล้วนะครับ
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 8 มีนาคม 2559