สมศ.ห่วงศูนย์พัฒนาเด็กฯ ไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน เล็งลุยประเมินในรอบสี่แบบตัดสินผล หวังสร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ ชี้การศึกษาปฐมวัยเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
วันนี้ (8 มี.ค.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า การศึกษาปฐมวัยเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะเด็กปฐมวัย หรือเด็กวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ช่างสังเกต และจดจำสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบบุคคลแวดล้อม ซึ่งการดูแลเด็กกลุ่มนี้นอกจากพ่อแม่ และครอบครัวจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเองแล้ว อีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสังคมเมืองที่พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ก็จะส่งเด็กไปศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หรือเนอร์สเซอรี่ให้ช่วยดูแล โดยปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเด็กฯ 21,924 แห่งทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯ มี 640 แห่ง
“ที่ผ่านมามีข่าวอยู่เสมอว่า ศูนย์พัฒนาเด็กฯ บางแห่ง มีการเลี้ยงดูแบบไม่มีคุณภาพ บางแห่งมีการทำร้ายเด็ก จึงเป็นเรื่องน่าห่วงมาก หากพ่อแม่ต้องฝากลูกไว้ในความดูแลของสถานที่ หรือบุคคลที่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการเติบโตและการเรียนรู้ของเด็กได้ ดังนั้นในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่นี้ สมศ.จะกำหนดให้มีการประเมินคุณภาพมาตรฐานของศูนย์พัฒนาเด็กฯ ด้วย โดยจะประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ ผู้บริหาร ครู และผู้เรียน เพื่อตรวจสอบมาตรฐาน และควบคุมคุณภาพการศึกษา ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม แต่จะเริ่มประเมินในปีการศึกษาใดนั้น จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ” ผอ.สมศ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการประเมินศูนย์พัฒนาเด็กฯ เคยมีการประเมินนำร่องตั้งแต่ปี 2556 โดยยังไม่มีการตัดสินผล แต่การประเมินครั้งนี้จะมีการตัดสินผลด้วยว่าผ่านหรือไม่ผ่าน”ผอ.สมศ.กล่าว.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 มีนาคม 2559