"รมว.ศธ." จี้เปลี่ยนหัวใจหลักการศึกษา เตรียมอบรมครูอัดรูปแบบวิธีการสอนแบบใหม่ จากผู้ป้อนความรู้มาเป็นผู้ชี้แนะ ส่งเสริมเด็กให้รู้จักคิดเป็นและใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเอง ประเดิมที่วิชาภาษาอังกฤษก่อน โดยจัดค่ายติวเข้มครูทั้งกลางวันกลางคืนในช่วงปิดเทอม ส่วนระยะยาวตั้งความหวังมหาวิทยาลัยผลิตครูพันธุ์ใหม่ป้อนสังคม
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้ครูปรับบทบาทจากผู้ที่เป็นศูนย์กลางความรู้มาเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำและส่งเสริมให้เด็กเกิดกระบวนการคิดและใฝ่หาความรู้ เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยี รวมถึงสื่อการเรียนรู้พัฒนาไปอย่างก้าวไกลและมีจำนวนมาก การที่จะปรับให้ครูจากที่มีหน้าที่สอนหนังสือมาเป็นทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ส่งเสริมเด็กทันที คงทำได้บางที่เท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และปัจจัยสำคัญคือผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้กระจายแนวคิดไปสู่ครูในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังดำเนินการอยู่คือ การให้แนวทางการสอนแบบใหม่ให้โรงเรียนนำไปใช้ เช่น การจัด Boot camp ภาษาอังกฤษ ที่จะมีการติวเข้มครูวิชาภาษาอังกฤษ จัดกิจกรรมทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งครูที่เข้าร่วมโครงการเก่งแกรมมาอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ครูจะได้จากการเข้าอบรมคือ รูปแบบการสอนในรูปแบบใหม่ที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเข้าใจได้ง่าย และจะเน้นเทคนิคการสอน การพูดที่สามารถนำไปใช้สนทนาในสถานการณ์ต่างๆ ได้จริง
"ต่อจากนี้ถ้าหากมีใครได้ยินครูของผมบ่นว่าเหนื่อย ผมก็ยอมรับ เพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องเหนื่อยจริงๆ แต่ผมจะพยายามให้การดำเนินการทุกอย่างไม่กระทบต่อการเรียนการสอนของเด็ก เพราะฉะนั้นการอบรมครูจะต้องจัดในช่วงปิดเทอมเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม สำหรับในส่วนของการผลิตครูระยะยาว รมว.ศธ.กล่าวว่า ตนฝากความหวังไว้กับมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ผลิตครู ขอให้นอกจากที่จะสอนเนื้อหาแล้ว อยากให้มีรูปแบบวิธีการสอนให้นักศึกษาที่กำลังจะจบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้เรียนรู้ด้วย ซึ่งตนให้ความสำคัญกับเทคนิคการสอน ยิ่งเป็นเด็กเล็ก เรายิ่งต้องมีวิธีที่จะทำให้เด็กสนใจและเข้าใจได้ง่าย
"ผมก็ไม่ได้จะแก้ตัว เพราะเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่สะสมมานานและคงต้องใช้เวลา ซึ่งตนก็พยายามเร่งทำอยู่แล้ว แต่การที่จะดำเนินการสิ่งใดก็ตามจะต้องคำนึงถึงหัวใจครูด้วย ไม่สามารถยัดเยียดให้ครูต้องรู้ ต้องได้ทันทีนั้นคงทำไม่ได้" พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วย ศธ. กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาครู เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าครูต้องการเข้ารับการอบรม จึงอาจไม่สามารถทุ่มเทเวลาให้ห้องเรียนได้เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการอบรมทั้งงบประมาณรัฐและเงินส่วนตัวด้วยนั้น ตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยระบบ TEPE Online มาใช้เพื่ออบรมครูในสังกัดประมาณ 4 แสนคน ให้มีความก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาครูทิ้งห้องเรียน และยังสามารถประหยัดงบประมาณได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการวางระบบและแผนการดำเนินการมาแล้ว พร้อมทั้งตนได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ด้านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ดีที่จะพัฒนาครูได้อย่างครอบคลุม สามารถลดค่าใช้จ่ายในการอบรมได้มาก อีกทั้งยังเป็นการคืนครูสู่ห้องเรียนและคืนผู้บริหารสู่โรงเรียนด้วย โดยเฉพาะกรณีของครูนั้นจะช่วยให้ครูมีเวลาให้เด็กเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยรวมได้
"การขับเคลื่อนระบบ TEPE Online มีการดำเนินการมาแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ตอนนี้ได้มาถึงขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ที่ร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อให้หลักสูตรมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ได้ในเร็วๆ นี้" รมช.ศธ.กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์