รมว.ศธ.จี้ข้าราชการ ศธ.เร่งทำงานเพื่อให้การปฏิรูปเสร็จทันภายในปีครึ่ง ยอมรับอาจต้องใช้ ม.44 เป็นเครื่องมือ ส่วนการปรับโครงสร้างตั้งกรมวิชาการมี 2 โมเดล อยู่ระหว่างพิจารณา
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตนได้นำผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยนายกฯ ได้ฝากไปถึงทุกกระทรวงว่าในช่วงปฏิรูปขอให้ข้าราชการทำงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำงานแบบเล่นไพ่รอตำรวจ เพราะเวลามีน้อย สำหรับในส่วนของ ศธ. นายกฯ ได้กำชับการดำเนินการด้านต่างๆ ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่ง ศธ.ก็กำลังเร่งดำเนินการอยู่ อาจจะต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ และได้มอบหมายให้ทุกคนทำตามนโยบายของนายกฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งต้องสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชา ติดตามการทำงาน และดูแลเรื่องสวัสดิการของผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วย
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า จากนี้ตนจะต้องเร่งดำเนินการในทุกด้านตามแผนพัฒนา 6 เรื่อง เช่น ครู ไอซีที การบริหารงานบุคคล หลักสูตร เป็นต้น แต่การที่ ศธ.จะดำเนินการอะไรนั้นไม่สามารถทำได้ในทันที เช่น การพัฒนาครู ตนก็ต้องดูเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับครูทั้งหมด เช่น เรื่องเกณฑ์การคัดสรรผู้อำนวยการ (ผอ.) และรองผู้อำนวยการ (รอง ผอ.) สถานศึกษา เรื่องการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จะต้องดำเนินการทั้งหมด เป็นต้น การดำเนินการของ ศธ.มีบางเรื่องอาจจะจำเป็นต้องใช้ ม.44 ไม่ได้มีเพียงเรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น แต่ต้องทำให้การทำงานของ ศธ.เป็นไปได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปจะไม่เสร็จในช่วง 1 ปีครึ่งนี้
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ส่วนการปรับโครงสร้าง ศธ. เรื่องการจัดตั้งกรมวิชาการนั้น ตนได้เชิญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาช่วยกันคิด และเกิดเป็น 2 โมเดล คือ 1.ให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ในแต่ละองค์กรหลักของ ศธ.มาอยู่ภายใต้กรมวิชาการสังกัดสำนักงานปลัด ศธ. และโมเดลที่ 2 สนช.เสนอให้กรมวิชาการเป็นหน่วยงานอิสระที่ดูแลเรื่องวิชาการ ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อพิจารณาสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากเป็นไปตามที่ สนช.เสนอก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 3 มีนาคม 2559