สอศ.ส่งหนังสือเวียนถาม สพฐ., สช., กศน. มีสถานศึกษาใดในสังกัดเปิดหลักสูตรเทียบโอนหน่วยกิตระดับ ปวช.และ ปวส.หรือไม่ เลขาฯ กอศ.ลั่นไม่มีนโยบายเปิดหลักสูตรเรียนสอนระบบเทียบโอนฯ นอกสถานที่ตั้งแน่นอน
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการสอบถามถึงปัญหาต่างๆ ในการจัดการศึกษา โดยผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งแสดงความห่วงใยกรณีที่พบว่า มีสถานศึกษาอาชีวะบางแห่งเปิดสอนระบบเทียบโอนประสบการณ์ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถเรียนจบและได้รับวุฒิการศึกษาภายใน 1 ปี ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์เป็นห่วงว่าจะกระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาอาชีวะในภาพรวม จึงได้มอบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ในส่วนอาชีวะรัฐ สอศ.มีการตรวจสอบและดูแลเรื่องนี้ และไม่พบว่าว่ามีการดำเนินการเรื่องดังกล่าว แต่ยอมรับว่าในส่วนของอาชีวะเอกชนยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก และพบว่ามีการแจกใบปลิวรับสมัครสมัครเข้าเรียนระดับ ปวช.และ ปวส.ระบบการเทียบโอนประสบการณ์ในหลายสถาบัน ซึ่งเปิดให้เทียบโอนในสาขาต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, การบัญชี, การจัดการทั่วไป, ช่างไฟฟ้า ฯลฯ
"ข้อความในใบปลิวระบุว่าสามารถสมัครได้โดยตรงหลายพื้นที่ เช่น ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ, โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี, โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี, อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เป็นต้น ค่าสมัครเรียนรายละ 2,000 บาท อีกทั้งยังมีการเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนด้วย สำหรับคุณสมบัติผู้สมัครระดับ ปวช. อายุ 18 ปีขึ้นไป จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า หรือจบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ส่วน ปวส. อายุ 21 ปีขึ้นไป จบ ม.6 หรือเทียบเท่า หรือจบ กศน. โดยใช้เวลาเรียนหลักสูตรละ 1 ปี"
เลขาธิการ กอศ.กล่าวอีกว่า สอศ.จึงลงไปตรวจสอบเบื้องต้น และพบว่ามีความไม่ปกติ ดังนั้น สอศ.จะทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาเปิดสอนในหลักสูตร ปวช.และ ปวส. ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงาน กศน. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่ามีสถาบันการศึกษาในสังกัดเปิดสอนในระบบเทียบโอนการศึกษานอกสถานที่ตั้งบ้างหรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีการใช้ชื่อโรงเรียนสังกัด สพฐ.บางแห่งเปิดสอน ซึ่งไม่แน่ใจว่าโรงเรียนถูกแอบอ้างหรือเปิดสอนจริง หากโรงเรียนถูกแอบอ้างก็จะต้องไปแจ้งความดำเนินคดี
"ข้อมูลที่ได้เป็นเพียงการสแกนข้อมูลเบื้องต้น และหากพบว่ามีใครจัดระบบเทียบโอนฯ สอศ.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบมาตรฐานการเรียนการสอนว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หากไม่ได้มาตรฐาน ผู้เรียนก็จะไม่สามารถสอบมาตรฐานวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้ ซึ่งในปีนี้ สอศ.กำหนดให้นักเรียนที่จบการศึกษาต้องมีการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพเป็นปีแรก หากเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะไม่สามารถสอบได้"
นายชัยพฤกษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากผู้ที่เรียนจบไปแล้วหรือกำลังศึกษาอยู่ไม่มั่นใจว่าหลักสูตรที่เรียนอยู่ได้มาตรฐานหรือไม่ สามารถส่งหลักฐาน เช่น ใบรับรองวุฒิการศึกษา มาให้ สอศ.ตรวจสอบได้ ส่วนคนที่กำลังตัดสินใจเรียนขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดี และตนยืนยันว่า สอศ.ไม่มีนโยบายให้สถานศึกษาอาชีวะทั้งรัฐและเอกชนในสังกัดเปิดหลักสอนระบบเทียบโอนฯ นอกสถานที่ตั้งแน่นอน และหากพบว่ามีสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ใดไปเปิดสอนโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องถูกลงโทษตามขั้นตอน ซึ่งถ้าเป็นอาชีวะรัฐจะมีโทษทางวินัย ขณะที่อาชีวะเอกชนถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 มีโทษตั้งแต่ปรับไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้ง ทั้งนี้ ผู้ที่ทราบเบาะแสว่ามีการเปิดสอนระบบเทียบโอนฯ และสงสัยว่าไม่ถูกต้องสามารถแจ้งให้ สอศ.ตรวจสอบได้ที่
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 3 มีนาคม 2559