รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการจัดทำข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาไทย สำหรับใช้ในการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้น ป.6 ปีการศึกษา 2559 ว่า ขณะนี้ สทศ.ได้เชิญสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือพัฒนา และฝึกอบรมผู้ออกข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบวิชาภาษาไทย โดยจัดเป็นเวิร์กช็อปให้ครูตามภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย จากนั้นจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณภาพมาตรฐาน มาเป็นผู้ออกและตรวจสอบ คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาและจะเสร็จเรียบร้อยทันการจัดสอบโอเน็ต ป.6 ปี 2559 แน่นอน
ผอ.สทศ.กล่าวต่อไปว่า หากถามถึงการจัดสอบข้อสอบอัตนัยในวิชาอื่น ๆ นั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงอยู่ เนื่องจากการดำเนินงานจำเป็นต้องมี 3 ปัจจัยหลักสำคัญ ได้แก่
1. งบประมาณที่ต้องพร้อม เพราะในการตรวจข้อสอบอัตนัยมีค่าตอบแทนที่สูง
2. เวลาในการตรวจก่อนประกาศผลอย่างน้อย 3-4 เดือน แต่ขณะนี้ สทศ.มีกรอบเวลาอยู่แค่ 30 วันเท่านั้น และ
3. บุคคลที่จะเป็นผู้ออกและตรวจข้อสอบต้องมีคุณภาพ ซึ่งยังเป็นเรื่องค่อนข้างลำบากและต้องใช้เวลามาก ขณะที่การจัดสอบแบบข้อสอบปรนัยมีข้อดีเรื่องการตรวจที่ใช้คอมพิวเตอร์ ถือว่ามีความเที่ยงตรง
"ข้อสอบที่จัดสอบโดย สทศ.จะเน้น การวิเคราะห์และการนำไปใช้ และการให้ สทศ.จัดสอบข้อสอบอัตนัยก็ถือเป็นเรื่องปลายน้ำ ทางที่ดีที่สุดครูควรสอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ และ นำไปใช้ และในความเป็นจริงการสอบอัตนัยควรรณรงค์ให้ทำในชั้นเรียนจะดีกว่า เพราะในแต่ละห้องมีเด็กแค่ 30-40 คน สามารถตรวจได้ง่ายกว่า ขณะที่การสอบโอเน็ตแต่ละครั้งจะมีเด็กเข้าสอบมากถึง 800,000 คน สทศ.จึงเห็นควรใช้ข้อสอบแบบปรนัยเพราะไม่มีปัญหาในการตรวจ ดังนั้นโรงเรียนควรเริ่มออกข้อสอบเป็นอัตนัยในทุกรายวิชาให้มากขึ้น" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 มี.ค. 2559 (กรอบบ่าย)